ชีวประวัติ ปฏิปทาหลวงปู่คำ สุมังคโล วัดป่าบ้านเศรษฐี อ.ม่วงสามสิบ จ.อุบลราชธานี
ประวัติและปฏิปทา หลวงปู่คำ สุมังคโล
วันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๘ เป็นวันครบรอบ ๕๒ ปี การละสังขาร หลวงปู่คำ สุมังคโล วัดสุมังคลาราม (บ้านเศรษฐี) อ.ม่วงสามสิบ จ.อุบลราชธานี ท่านศิษย์ในองค์หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล และ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ชาวบ้านขนานนามท่านว่าหลวงปู่คำผีย่าน หลวงปู่คำเหยียบรถเดี่ยง ท่านได้จาริกไปทั่วภาคอีสาน แถวสกลนคร มุกดาหาร นครพนม เป็นต้น ปฏิปทาของหลวงปู่คำนั้นมีความหมายและความสำคัญต่อลูกหลาน สมควรมีไว้เพื่อลูกหลานจะได้ศึกษาต่อไป
ท่านพระอาจารย์คำ สุมังคโล (หลวงปู่คำ) ท่านเกิดมาในตระกูลสายธรรม ประมาณปี พุทธศักราช ๒๔๕๘ ปีเถาะ ที่บ้านเศรษฐี อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี บิดาชื่อเป้ย มารดาชื่อไข สายธรรม
ท่านมีพี่น้องร่วมท้อง ๗ คนคือ
๑ พ่อใคร สายธรรม (เสียชีวิตแล้ว)
๒ หลวงปู่คำ สุมังคโล (มรณภาพแล้ว)
๓ พ่อใบ สายธรรม (เสียชีวิตแล้ว)
๔ พ่อบุ สายธรรม (เสียชีวิตแล้ว) ( ท่านเป็นบิดาของย่า ของข้าพเจ้า ซึ่งย่าเคยจะเล่าให้ฟัง เรื่องต่างๆ ที่พ่อท่านติดตามองค์หลวงปู่คำ สุมังคโล เดินธุดงค์ ซึ่งพบกับเรื่องลี้ลับต่างๆนาๆ )
๕ แม่หลาง พันมาทอง
๖ แม่ทอง กะนะหาวงศ์
๗ พ่อกอง สายธรรม
#ชีวิตในด้านการศึกษาสมัยเด็ก
เด็กชายคำ เป็นบุตรคนที่สองรองจากคนหัวปี พออายุครบกำหนด ๑๐ ปี คุณพ่อได้นำไปฝากครูประจำชั้นที่โรงเรียนประชาบาล บ้านเศรษฐี
เมื่อเข้าสู่ทางด้านการศึกษาเด็กชายคำ เป็นผู้มีมานะพยายามเล่าเรียนจนจบ อ่านออกเขียนได้ เด็กชายคำ ก็ได้ศึกษาอักษรสามัญจนจบชั้นประถมบริบูรณ์ ตามปกติวิสัยจะเป็นคนเอาจิงเอาจังตั้งแต่ยังเล็ก ทำอะไรก็เป็นที่วางใจของคุณพ่อคุณแม่ ดังนั้นเมื่อเรียนจบประถมแล้ว ตามที่มีแนวความคิดว่า จะออกบรรพชานั้น ยังฝังลึกอยู่ในใจของเด็กชายคำตลอดเวลา
บางครั้งก็ปริปากบอกคุณพ่อคุณแม่บ้าง แต่ด้วยความห่วงใยพ่อแม่เพราะมีน้องๆ หลายคนจำเป็นจะต้องช่วยภาระหน้าที่พ่อแม่ไปเสียก่อน ภาระการงานอันใด ที่คุณพ่อคุณแม่มอบให้ หนังหรือเบา ยากหรือง่าย เป็นอันเสร็จเรียบร้อยไปด้วยดี ด้วยเหตุนั้นจึงเป็นเหตุให้คุณพ่อคุณแม่ไว้วางใจมาตลอด
พออายุได้ ๑๙ ปี วันที่มีความปรารถนาและตั้งใจก็มาถึง พอตื่นเช้ามา เมื่อทุกคนรับประทานอาหารเสร็จ คุณพ่อได้ถามว่าลูก มีความประสงค์อยากบวชเป็นสามเณรจริงหรือ นายคำซึ่งอายุกำลังเข้าสู่วียหนุ่ม ก็ตอบคุณพ่อด้วยความดีใจว่า อยากบวชจริง คุณพ่อเปิดทางให้อย่างนั้นก็ได้กราบลา คุณแม่และคุณพ่อก็ได้นำตัวไปฝากไว้ให้เป็นศิษย์ พระอธิการเลิด (หรือพระครูอักคธรรมวิจารณ์) ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าหนองหลักสมัยนั้น
เมื่อนาคคำได้เข้าสู่แวดวงแห่งการเป็นนาคแล้ว ก็รีบท่องบ่นสาธยายคำขอบวช ไม่นานก็ขานนาคได้ดี เป็นที่เรียบร้อย ท่าสพระครูอักคธรรมวิจารณ์ ซึ่งท่านมีตำแหน่งเป็นพระอุปัชฌาย์อยู่แล้ว ท่านก็ได้ทำการบรรพชาเป็นสามเณรให้ เมื่อสามเณรคำได้บวชแล้ว ก็ได้ศึกษาเล่าเรียน ไหว้พระสวดมนต์ ตลอดถึงข้อวัตรปฏิบัติ ตามหน้าที่ความเป็นสามเณรสมบูรณ์ บริบูรณ์ ไม่ให้ขาดตกบกพร่องแต่ประการใด การศึกษาสมัยนั้น ท่านนิยมเรียนมูลกระจายเป็นจำนวนมาก เพราะถือว่าเมื่อบวชมาแล้วต้องศึกษาเล่าเรียน อ่าน หรือตามสูตรที่ว่า ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ นั่นเอง คือการเรียนรู้ ทางก็ออกปฏิบัติ ก็มีผลเป็นสมาธิ สมาธิเรียกว่า ปฏิเวธ ท่านว่าอย่านั้น
เมื่อสามเณรคำได้ศึกษาเล่าเรียนกับพระอุปัชฌาย์ ก็ยังไม่พอใจยังมีความปรารถนาอยากจะได้ ศึกษาให้ได้มากๆ กว่านั้น ที่สุดสามเณรคำจึงได้กราบลาพระอุปัชฌาย์ไปศึกษาต่อ
สมัยนั้นมีข่าวลือทางด้านการศึกษา มีชื่อเสียงโด่งดังกันนั้นคือ บ้านเสาเล้า ตำบลโคกเบี้ย อำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์
หลังจากสามเณรคำได้อำลาพระอุปัชฌาย์แล้วก็ได้มาพักที่บ้านเศรษฐีพอสมควร และได้บอกลาคุณพ่อคุณแม่และญาติโยม จะไปศึกษาเล่าเรียนต่อที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ตามที่ตั้งใจไว้ การศึกษาเล่าเรียนสัยนั้น ก็มี พระบิน (พ่อจารย์บิน) ปัจจุบันนั้นเป็นเพื่อนเดินทางไปด้วยกัน ในสมัยนั้นก็คงจะมีการเดินเท้าเป็นส่วนใหญ่ ก็คงรอนแรมหลายคืน จนกว่าจะถึงจุดมุ่งหมาย ปลายทาง เมื่อถึงเเล้วก็เข้ามอบตัวเป็นศิษย์ต่อเจ้าอาวาส เมื่อทางวัดได้รับตัวไว้แล้วทางพระบินก็ดี สามเณรคำก็ดี ต่างก็ตั้งหน้าตั้งตา ท่องบ่นสาธยายตามหลักสูตรต่างๆ ยิ่งสมัยนั้น การศึกษายังไม่เจริญเหมือนกับสมัยนี้ อุปกรณ์การเรียนการสอนก็ไม่ค่อยมี แม้แต่หนังสือสูตร จะมาท่องบ่นนั้น ยังมีน้อยมากเต็มที โดยมาก การเรียนการสอน จะท่องบ่นจากครูอาจารย์เป็นส่วนใหญ่ คือ จะมีครูหนึ่งคน และจะมีลูกศิษย์ห้าคน หรือสิบคน ครูผู้สอนจะว่าไปก่อน นักศึกษาก็ว่าตามเป็นส่วนใหญ่ ถ้ากลางคืน ก็อาศัย เดือน ดาว เป็นการส่องแสงทางเป็นส่วนใหญ่ สมุด ปากกา ไม่ต้องพูดถึง ดังนั้นการศึกษาสมัยนั้น มีความลำบากมากๆ แต่นักศึกษาส่วนใหญ่ เรียนได้เก่งมาก ให้เราคิดเสียว่า ท่านจะต้องเรียนสามปี ท่านจึงเรียนจบ และจึงมีสิทธิ์สอบประโยคได้ เมื่อสอบได้ก็ถือว่า ได้เปรียญ ๓ ประโยค หรือมหานั่นเอง
แต่เดี๋ยวนี้เขามีการแบ่งภาคเรียน คือสอบเก็บคะแนน คือประโยคหนึ่ง สอง เมื่อสอบได้ ก็ประโยค ๓ ไปเลย ถ้าสอบได้ก็เปรียญ ๓ เลย ก็เรียกว่าการเรียนการสอนมีความง่ายขึ้น อุปกรณ์การเรียนการสอนก็มีมากต่อมาก ถึงขนาดนั้นก็ยังถือว่า ยังไม่เก่งเท่ากับสมัยของครูบาอาจารย์ เพราะสมัยนั้นท่านท่องให้ขึ้นใจจริงๆ ท่านองค์ไหนที่เรียนเก่งๆนั้น ท่านเห็นอะไรท่านแปลได้หมด แม้กระทั่งนกบินมาจับต้นไม้ ท่านยังรู้ว่ามันบินมาจากทิศใด และมันจะบินไปทางทิศใด ท่านรู้ได้ถึงขนาดนั้น
ส่วนสามเณรคำ เป็นผู้มีมานะบากบั่น ในการศึกษาที่สุด ท่านก็เรียนจบมูลกระจาย แต่เสียดายท่านไม่ได้สอบเปรียญกับเขา จริงๆแล้ว ท่านไม่ต้องการ ท่านเรียนรู้พอรู้แนวทางปฏิบัติเท่านั้น ไม่หวังอย่างอื่น
เมื่อเรียนตามหลักสูตรของสำนักที่กำหนดให้แล้ว ขณะนั้น ครบอายุ ๒๐ ปี บริบูรณ์ จึงได้ทำการอุปสมบทเป็นภิกษุในบวรพุทธศาสนาต่อไป เมื่อบวชแล้ว ได้ยินว่า สำนัก วัดบ้านหัวดง พอจะมีครูอาจารย์พอจะให้ความรู้เพิ่มเติม จึงได้บอกลาญาติโยมไปศึกษาต่ออีก มีท่านอาจารย์วอ หรือ ญาท่านวอ เป็นประธาน เมื่อศึกษาเพิ่มเติมสำเร็จแล้ว จึงได้กราบลาครูอาจารย์ ออกไปวิเวกตามที่ต่างๆ จังหวัดต่างๆ ไปเรื่อยๆ ไม่มีจุดหมายปลายทาง ค่ำที่ไหนพักที่นั่น ถ้าหากเป็นทำเลดีๆ เป็นที่สัปปายะ มีความวิเวก วังเวง ท่านจะพักที่นั่นนานๆ ยิ่งตรงไหนมีผีดุๆ มีสัตว์ป่าที่น่ากลัว เช่น เสือ เป็นต้น ท่านจะชอบอยู่นานๆ เพื่อดัดนิสัยตัวเอง ที่ขี้เกียจนั่งภาวนา เดินจงกรม เป็นอยู่อย่างนี้ พูดถึงครูอาจารย์สมัยก่อน ท่านไม่ขี้เกียจสันหลังยาวเหมือนกับพวกเราสมัยปัจจุบันนี้ เพราะฉะนั้น ครูบาอาจารย์แต่ละองค์ ท่านจึงเป็นผู้ที่น่าเคารพนับถือ กราบไหว้บูชา ของพวกเรา เป็นผู้นำของพวกเรามาจนถึงยุคปัจจุบัน ถ้าว่าแล้วพวกเราขณะนี้ เสวยบุญของครูบาอาจารย์สมัยนั้นก็ว่าได้
#ออกปฏิบัติครั้งแรก
ดังนั้นเมื่อพระคำได้อำลาครูบาอสจารย์แล้วก็มุ่งหน้าเข้าสู่ดงหนาป่าทึบ โดยหวังฝึกฝนตนเอง ให้เป็นผู้เด็ดเดี่ยวกล้าหาญ ในเมื่อตกอยู่ในสภาพนั้นความนอนใจก็ไม่มี ความขยันหมั่นเพียรก็เกิดขึ้น เมื่อมีความเพียรเป็นพื้นฐาน ทำกันทั้งวันทั้งคืน ที่สุดความกระเสือกกระสนทุรรนทุราย ก็ได้หายไป ความสงบก็เข้ามาทดแทน เมื่อความสงบปรากฎ ความสุขที่เยือกเย็นก็เกิดขึ้น ความขยันหมั่นเพียรก็มีมากขึ้นตามลำดับ พระคำถือว่าเป็นพระบวชใหม่ มีความมุ่งมั่นทางความหลุดพ้นไม่ท้อถอย จากนั้นก็ได้ธุดงค์ไปตามลุ่มแม่น้ำมูล ตามบ้านเล็กเมืองใหญ่ ที่สุดก็เจอครูบาอาจารย์ที่ท่านปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ คือ หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล ซึ่งถือว่า เป็นพระบูรพาจารย์สายกรรมฐานอย่างสำคัญ เมื่อได้ฟังธรรมจากหลวงปู่เสาร์แล้ว จึงเกิดศรัทธาในปฏิปทาหลวงปู่เป็นอย่างมาก จึงได้ขอฝากตัวเป็นศิษย์หลวงปู่เสาร์ จากนั้น หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล ก็ได้พาเดินธุดงค์ขึ้นทางอำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม ได้พักอยู่ที่วัดเกาะแก้วนานพอสมควร พร้อมทั้งฝึกขานนาค เตรียมจะญัติใหม่เมื่อพร้อม แล้วหลวงปู่เสาร์ กันตสีโล ก็ได้พาไปญัติเป็นฝ่ายธรรมยุตตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โดยมีพระเดชพระคุณ พระสารภาณมุนีเป็นพระอุปัชฌาย์ มีพระครูวินัยกิจการเป็นพระกรรมวาจาจารย์ มีฉายาว่า “สุมังคโล”
หลังจากญัติแล้วหลวงปู่เสาร์ ได้พาเที่ยวธุดงค์ไปตามสถานที่ต่างๆ มีป่าดงพงไพร ภูเขา ในพื้นที่นครพนม และพื้นที่ใกล้เคียง เพราะครูบาอาจารย์สมัยนั้น ท่านไม่ติดถิ่นฐานเหมือนอย่างทุกวันนี้ ท่านไม่มีภาระผูกพันอะไรเลย เปรียบเสมือนนกสาริกาทั้งหลาย เมื่อบินไปเกาะต้นไม้ที่มีเมล็ดสุกเหลืองอร่อยเต็มต้น เมื่อต่างตัวต่างจิกกินตามลำพัง ทั้งอิ่มทั้งร้องจอแจตามประสานก แล้วก็จากไปโดยไม่มีอาลัยอาวรณ์ แม้แต่น้อยและนกเหล่านั้น ก็ไม่มีตะกร้ากระบุงหาบหามเอาผลไม้ที่สุกรสชาติอร่อยแม้แต่น้อย ครูบาอาจารย์สมัยนั้น ก็เหมือนกัน เมื่อท่านพีกอยู่ที่ใด จำพรรษาอยู่ที่ใด เมื่ออกพรรษาแล้ว ท่านจะ มุ่งหน้าออกวิเวกที่อื่นๆ ต่อไป โดยไม่ใยดีในสถานที่แห่งนั้น ท่านไม่ติดถิ่นฐาน ท่านไม่ติดญาติโยม ท่านไปเรื่อยๆของท่าน พูดถึงเครื่องใช้ไม้สอย ก็มีบริขาร ๘ เท่านั้น ไม่มีอะไรมากมาย อาหารการบริโภค อดบ้าง อิ่มบ้าง ไม่เป็นไร ท่านไปสบายอยู่สบาย ไม่มีกังวลอันใด
บางทีท่านยังอาจไปผู้เดียวอีกด้วย ให้พวกเราคิดเอาเองว่าคนที่เข้าป่าดงพงไพรคนเดียว ย่อมจะเกิดความว้าเหว่สักปานใด ท่านก็ไปด้วยความพอใจของท่าน ไปไม่ว่าอะไร ในเมื่อมีความพอใจ ย่อมทำได้ทั้งนั้น
หลังจากประมาณ ปี พ.ศ. ๒๔๘๓-๒๔๘๔ ท่านพระอาจารย์คำ สุมังคโลก็ได้อำลา หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล เดินธุดงค์เดี่ยวกลับไปทางนครจำปาสักอีกครั้ง ซึ่งถือเคยว่าผ่านมาแล้วครั้งหนึ่ง ตอนพบหลวงปู่เสาร์ครั้งแรก เพราะแถวนครจำปาสัก มีป่าดงพงไพรหนาแน่น มีภูเขาซับซ้อน มีถ้ำ หน้าผา วิจิตรพิศดาร มีความวิเวกเหมาะสำหรับผู้ต้องการสงบ จากนั้นก็ได้ธุดงค์ไปทางวัดภูเขาแก้ว วัดท่าคอกเหล็ก วัดดอนธาตุ อำเภอพิบูลมังสาหาร ซึ่งเป็นสถานที่ครูบาอาจารย์บำเพ็ญมาก่อนแล้ว เช่น ท่านหลวงปู่เสาร์ กฺนตสีโล หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต และครูบาอาจารย์องค์อื่นๆ หลายต่อหลายท่าน ยากที่จะนำมาเล่าให้ฟังหมดให้สิ้นได้
ส่วนพระอาจารย์คำพักค้างคืนพอสมควรแล้ว ก็ได้ออกเดินทาง รอนแรมไปตามสายแม่น้ำมูล ตามลำห้วยโดมน้อย ท่านเคยเล่าให้พวกเราฟังว่าเวลาธุดงค์ ทางโดมน้อย จะเจอผีเขียวใหญ่มาหาบ่อยๆ ผีเขียวใหญ่นี้ ท่านว่า เป็นหัวหน้าผีอยู่ในเขตนั้น ก็ในช่วงระยะเข้าเขื่อนโดมน้อยนั้น ท่านพระอาจารย์ยังพาชาวบ้านเศรษฐีไปดูอยู่ (แม่กระทั่งผู้เขียนก็ไปด้วย ตอนนั้นพึ่งบวชพระใหม่ๆ ไปเห็นเขาระเบิดหิน โอ้ น่ากลัวจริงๆ) จากนั้นก็ได้ธุดงค์ไปทางจังหวัดขอนเเก่น และ นครราชสีมา แถบภูเขาควาย เขาใหญ่ และดงพยาเย็น ถือได้ว่าเป๋นป่าที่คงความอุดมสมบูรณ์เอาไว้ มีไม้ใหญ่ มีเครือเถาวัลย์หนาแน่น มองไม่เห็นท้องฟ้า เมื่อเข้าไปแล้ว มีความเวียบสงัดปราศจากเสียงผู้คน จะมีแต่ก็เสียงสิงสาราสัตว์ นก หนู ปูปีก ลิงข่าง บ่าง ชะนี ร้องเสียงโอนอ่อนเรียกหาคู่ครองของตน ต่างตัวต่างหากอนคนละทิศคนละทาง เมื่อได้ยินเสียงชะนีมันร้องโอดโอย อยู่นั่น มีความรู้สึกสงสารตัวเองอยู่ไม่น้อย เวรกรรมอะไรหนอ จึงได้มาคนเดียวเปลี่ยวกายอย่างนี้
คิดแล้วเส้นผมที่อยู่บนศรีษะก็ลุกขึ้นชูชัน หน้าตามึนงงไปหมด แต่แล้วก็มีสติขึ้นมาว่า เราไม่ได้มาหาความกลัว เราต้องการความสงบต่างหาก ที่สุดจิตใจก็อยู่ในสภาพปกติ นอกจากเสียงชะนีร้ิองโหยหวน ชวนให้คิดถึงความวิเวกแล้ว ยังได้ยินเสียงสัตว์ขนาดใหญ่ร้อง เช่น อีเก้ง อีกวาง หมูป่า ละมั่ง ช้าง เสือ เป็นที่หวาดกลัวเป็นยิ่งนัก เมื่อพิจารณาถึงความเป็นจริง และสัตว์ทุกชนิดก็มีความเสมอภาคทุกประการ ต่างคนต่างหาอยู่หากินตามประสาของตน ภูเขาควาย เป็นภูเขาที่มีความงามสลับซับซ้อน แล้วมีถ้ำ มีเหว ถ้ำเล็ก ถ้ำใหญ่ เหมาะสำหรับพระธุดงค์กรรมฐาน ดังนั้นจึงมีร่องรอยของพระกรรมฐานไปพักบำเพ็ญอยู่บ่อยๆ ท่านพระอาจารย์เมื่อได้ที่อันเป็นที่สัปปายะแล้ว ก็ได้ตั้งหน้าตั้งตาบำเพ็ญความพากเพียร เดินจงกรม นั่งภาวนา อย่างเอาเป็นเอาตาย ในที่สุด ความสงบก็เกิดขึ้น ถือได้ว่าคุ้มค่าการไปเดินธุดงค์ไปผู้เดียวอย่างนั้น ไม่ยุ่งเกี่ยวกับใคร สะดวกสบาย หายกังวล บางครั้งท่านพูดกับลูกศิษย์ลูกหาว่า
"ตัวท่านเองนั้น เป็นม้า ไม่มีสถานีจอด” ท่านว่าอย่างนั้น
อีกมัยหนึ่งผู้เขียนได้เรียนถามท่านอยู่วัดป่าประชานิยม บ้านหนองหลวง อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร ว่า ขณะนี้ครูบาอาจารย์แก่แล้ว อยากให้อยู่เป็นที่เป็นทาง ท่านตอบว่า ท่านจะไปจนกว่าจะไปไม้ได้ ท่านว่าอย่างนั้น และท่านยังพูดต่อเติมอีกว่า การไปของท่านมีผลอยู่สองประการ หนึ่งได้บำเพ็ญ สอง ได้อนุเคราะห์ ผู้คนในถิ่นทุรกันดาร ท่านว่าอย่างนั้น ก็จริงเหมือนอย่างท่านว่า ท่านไม่เคยจำพรรษาติดต่อกันเกินสามปี และอีกครั้งหนึ่งท่านได้เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า หลังจากท่านได้บรรพชา อุปสมบทแล้ว ไม่เคยคิดอยากจะออกสู่ความเป็นฆราวาส มีแต่คิดที่จะเชิดชู เทิดทูนให้พระพุทธศาสนามีความเจริญรุ่งเรืองเท่านั้น เราอยู่ได้คนหนึ่ง ถือว่าเราได้คงไว้ซึ่งธรรมวินัย ซึ่งหากหมดเราไปคนหนึ่ง เท่ากับว่าหมดไปอีกหนึ่งคน ท่านว่าอย่างนั้น
หลังจากธุดงค์ในแถบนั้นแล้ว ก็ได้เดินทางขึ้นทางจังหวัดสกลนคร ประมาณปี ๒๔๙๕-๒๔๙๖ ท่านพระอาจารย์ ได้ดูแลการก่อสร้างศาลาการเปรียญ วัดคามวาสี บ้านหนองดินดำ อำเภอสว่างเเดนดิน จังหวัดสกลนคร การก่อสร้างสมัยนั้น ย่อมมีการฝืดเคืองพอสมควร ใช้เวลานานกว่าจะเสร็จ ในช่วงที่พระอาจารย์คำช่วยดูแล เป็นช่วงที่ทำหลังคา เมื่อมุงหลังคาเสร็จแล้ว ท่านพระอาจารย์ได้เขียนแผ่นทองด้วยคาถาติดใส่ป้านลมหน้าจั่วศาลาด้วย เพื่อความเป็นสิริมงคล ต่อมาท่านพระครูพุฒิวราคม (พุฒ ยโส) ได้มาต่อเติมจึงสำเร็จเรียบร้อย พอเสร็จแล้ว ได้ทำบุญฉลองศาลา ได้ไปว่าจ้างเครื่องขยายเสียง นายชู สุคันธมาตร บ้านดอนเขือง พร้อมเครื่องกำเนิดไฟฟ้า แต่เขาได้หันลำโพงเข้าตรงหน้าจั่วศาลาพอดี ด้วยอำนาจความขลังของแผ่นทองที่หลวงปู่คำ สุมังคโลได้จารเขียนติดเอาไว้ที่หน้าจั่วศาลานั้น ทำให้เครื่องกำเนิดไฟฟ้านั้นไม่ทำงาน ไม่ได้ผลทั้งที่เครื่องไม่เป็นอะไร ดูอะไรทุกอย่างก็ปกติ แต่เครื่องไม่ทำงาน ทำกันอยู่อย่างนั้นตั้งนาน เจ้าของเครื่องบอกว่าไม่เคยเป็นอย่างนี้มาก่อน ต่อมามีผู้มาบอกว่า ให้หันลำโพงไปทางอื่น เท่านั้นเอง เครื่องกำเนิดไฟฟ้าก็ทำงานได้ทันที นั่นถือว่าเป็นเรื่องอัศจรรย์ ตามปกติแล้ว ท่านหลวงปู่คำ จะมีพิเศษเรื่องเครื่องลางของขลังถ้าท่านทำให้แล้ว จะเป็นปรอทก็ดี ผ้ายันต์ก็ดี ขลังทั้งนั้น แต่ท่านไม่ค่อยทำให้ใครง่ายๆ เรื่องเหล่านี้ท่านเคยบอกผู้เขียนว่า การที่คาถาจะขลัง จะต้องทำให้ถูก ให้ครบตามลักษณะของแต่ละคาถา เรื่องดอกไม้ ธูปเทียน ท่านก็พอถีพิถัน จะต้องถูกต้อง ขันห้า ขันแปด ต้องให้ครบ ท่านว่าอย่างนั้น และคาถาแต่ละอย่างถ้าจะให้ขลัง จะต้องบริกรรมอยู่ตลอดเวลา อย่างคนสมัยก่อนเขาขลัง อาวุธต่างๆ ไม่ได้ระคายเคืองแม้แต่ผิวหนัง เพราะเขาตั้งใจบริกรรมจริงๆ บริกรรมจนกว่าจะหลับ ตื่นขึ้นมาก็บริกรรมต่อ จนนอนหลับอีก ท่านว่าอย่างนั้น ซึ่งต่างจากคนสมัยนี้เยอะ มีแต่อยากขลังแต่ขี้เกียจท่องคาถา
หลังจากท่านได้นำพาชาวบ้านได้ก่อสร้างวิหารหลังนั้นเสร็จแล้ว ท่านก็ธุดงค์ไปทางเมืองเหนือ และได้ไปจำพรรษาที่บ้านหนองเสา เขตพื้นที่อำเภอเถิง จ.เชียงราย ภายในปี ๒๕๑๔ พอออกพรรษาแล้ว ได้ร่ำลาญาติโยมเดินทางกลับทางสกลนครอีก พอถึงหน้าเทศกาลเข้าพรรษา ปี พ.ศ. ๒๕๑๕ ท่านพระอาจารย์ก็ได้เดินธุดงค์ไปจำพรรษาที่วัดภูวังแวง เขตพื้นที่อำเภอไชยวาน จังหวัดอุดรธานี เมื่อออกพรรษาแล้ว ได้เดินทางกลับมาทางจังหวัดสกลนครอีกครั้ง และได้เป็นประธานใน การจัดศพของหลวงปู่ชัยปัญญา ที่วัดบ้านผักตบ อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร
#โรคกำเริบ
ในขณะเดียวกันโรคของหลวงปู่ที่มีประจำตัวคือ โรคริดสีดวงทวาร ซึ่งเป็นมานานก็ได้กำเริบขึ้นมาอีก พอเสร็จจากงานศพท่านก็ได้ไปพักที่ วัดป่าโนนแสนคำ บ้านทุ่งคำ อำเภอเจริญศิลป์ จังหวัดสกลนคร ลูกหลานญาติโยมต่างก็หาหยูกยาต่างๆ มาบำบัดรักษาเยียวยา แต่องค์หลวงปู่ได้พูดอยู่แล้วว่า การป่วยคราวนี้ ถือว่าเป็นการป่วยหนักมาก และคงไม่มียาอะไรมาช่วยบรรเทาบางได้เหมือนเอาน้ำรดต้นไม้ที่ตายแล้ว คงไม่มีผลอะไร คำนี้ทุกคนพอจำได้ ขณะนั้นอาการป่วยขององค์หลวงปู่มีแต่ทรุดกับทรุดเท่านั้น ทำให้บรรดาลูกศิษย์ลูกหลานต่างก็ใจคอไม่ค่อยดี วิพากษ์วิจารณ์กันไปต่างๆนาๆ กลัวว่าองค์หลวงปู่จะไม่หาย ไม่ได้อยู่เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้กราบไหว้บูชา ต่อมาความว่าหลวงปู่ป่วยก็ได้ยินถึงลูกหลานญาติพี่น้องชาวบ้านเศรษฐี อ.ม่วงสามสิบ จ.อุบลราชธานี ( มาตุภูมิองค์หลวงปู่ ) ฟังข่าวแล้วจิตใจไม่ค่อยดี จึงได้พากันขึ้นไปเยี่ยมอาการป่วยขององค์หลวงปู่ โดยมีพ่อผู้ใหญ่จวง แม่ฟาน แม่อ้บ พ่อพูน และได้ขออาราธนาองค์หลวงปู่กลับบ้านเศรษฐี เพื่อลูกหลานทางโน้นจะได้จะได้หาหยูกหายา มาพยาบาลรักษาในโอกาสต่อไป
แต่หลวงปู่ไม่ได้กลับพร้อมญาติโยม จากนั้น ญาติโยมทางสกลนครก็พยายามหายาที่เห็นว่าพอจะบรรเทาอาการเบาบางจากโรคร้ายที่เกิดขึ้น แต่ก็ไม่พอมีว่านยาขนาดไหนจะพอบรรเทาอาการลงได้ ท่านหลวงปู่จึงตัดสินใจลงไปรักษาตัวที่บ้านเศรษฐี ตามคำขอของทางพี่น้องลูกหลาน เมื่อถึงบ้านเศรษฐีแล้ว ลูกหลานญาติพี่น้อง ต่างก็พิถีพิถันปรึกษา หรือหาพูดถึงหยูกยา ใครพอจะรู้จักยา หมอยา อยู่ที่ไหนก็ต่างออกความคิดเห็นกัน เพื่อจะนำมารักษาให้ครูบาอาจารย์ ได้หายป่วยจากเจ็บปวด โรคาพาธิที่เกิดขึ้น ใครนำยาอะไรมา ท่านก็เมตตาฉันให้หมด ไม่ว่าจะเป็นยาแผนปัจจุบันโบราณ ถือว่าเป็นวาระสุดท้ายแล้ว คงอนุเคราะห์สงเคราะห์เพื่อเขาจะได้ดีใจ และเป็นบุญของเขาต่อไป ท่านรู้อยู่ ว่ายาที่ท่านฉันเข้าไปจะไม้เป็นผล แต่ท่านก็ฉันให้ จากนั้นอาการอาพาธของพ่อแม่ครูอาจารย์ก็ทรุดลงตามลำดับ
ขณะเดียวกันนั้นลูกหลานญาติโยมมีความวิตกกังวลมากขึ้น ได้พูดหารือกันว่า ถ้าจัดงานทำบุญต่ออายุให้ท่าน อาการคงจะเบาบางลงบ้าง เมื่อตกลงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผู้เขียนได้เข้าไปกราบเรียนถึงวัตถุประสงค์ ให้ท่านทราบ ท่านก็บอกว่าอาการป่วยครั้งนี้ไม่หายแน่ ท่านยังพูดอีกว่า การทำบุญต่ออายุคงไม่เป็นผล แต่ทำเพื่อรักษาประเพณีไว้เท่านั้น
พอท่านอนุญาติก็รีบเดินทางขึ้นสกลนคร เพื่อหารือครูบาอาจารย์ทุกรูป ทุกรูปเมื่อรับทราบ อย่างนั้น ต่างก็รับ เดินทางลงบ้านเศรษฐี เพื่อร่วมทำบุญต่ออายุให้ ตอนนั้นครูอาจารย์มีหลวงพ่อวัน อุตตโม (เป็นประธานสงฆ์) ญาติโยมต่างก็ร่วมกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน พอถึงเวลาก็ได้ทำพิธีสวดมนต์ถวาย เมื่อทำบุญต่ออายุเสร็จแล้ว แทนที่อาการป่วยหนักจะดีขึ้นตามที่ทุกคนได้คาดคิดเอาไว้ ที่ไหนได้ ยิ่งทรุดหนักลงเรื่อยๆ ในช่วงนั้นเองบรรดาพ่อแม่ครูอาจารย์ ลูกหลานทั้งหลาย ต่างก็ใจคอห่อเหี่ยว หน้าตาต่างก็เต็มไปด้วยความหวั่นวิตก ผู้คนอยู่ที่ไหนก็มีแต่ปรารภพูดคุยกันแต่เรื่องของครูอาจารย์กลัวว่าท่านจะไม่หาย กลัวว่าท่านจะจากไป เพราะความอาลัยอาวรณ์ความเคารพรัก ความสนิทชิดชอบ
ถือว่าว่าองค์หลวงปู่เป็นร่มโพธิ์ร่มไทร เป็นที่กราบไหว้บูชา ฝากเป็นฝากตาย จู่ๆจะมาด่วนจากไปได้อย่างไร ใครเล่า จะมาเป็นที่พึ่งของพวกเราทั้งหลาย อันนี้เป็นความรำพันรำพึงของลูกหลาน ต่างคนต่างไหว้ขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ตามแต่ใครจะคิดได้ ขอให้ความศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายเหล่านั้นจงมาช่วยดลบันดาลอภินิหารมาบรรเทาเบาบางอาการของครูอาจารย์ จงหายวันหายคืน
#หลวงปู่ละสังขาร
แต่แล้ววันและเวลา อันวิปโยคได้เกิดขึ้นโดยไม่มีใครคาดคิด เช้าของวันที่ ๓๑ เดือน ๔ (เดือนมีนาคม) ปี พ.ศ. ๒๕๑๖ เวลา ๐๗.๓๐ น. หลวงปู่คำ สุมังคโล ก็ได้ละสังขารจากไป ด้วยอาการสงบ โดยไม่มีวันกลับมาอีก (สิ้นภพสิ้นชาติ) ในท่ามกลางคณะศิษย์ทั้งบรรพชิตและลูกหลานญาติโยมที่คอยเฝ้ารักษา นำมาซึ่งความโศกเศร้าอาลัย ในบรรดาคณะศิษย์ และบรรพชิต และญาติโยมลูกหลานทุกคน ที่ได้รับข่าวการสูญเสียอันยิ่งใหญ่ ข่าวการละสังขารขององค์หลวงปู่ ได้กระจายออกไปอย่างรวดเร็ว จากบ้านสู่บ้าน จากอำเภอสู่อำเภอ
ทุกคนเมื่อได้รับข่าว ต่างก็มีใบหน้าชุ่มไปด้วยน้ำตา มีความอาลัยอาวรณ์ถึงคุณงามความดี บารมีที่ครูอาจารย์อบรมมาช้านาน ย่อมเป็นสิ่งที่บ่งบอกชัดเจนว่า คุณความดีทั้งหลาย ที่ครูอาจารย์ที่ขวนขวายตัเกียกตะกาย บุกป่าฝ่าดง ขึ้นเขาลงห้วย โดยไม่เห็นแก่ความลำบากยากเย็น นั่นย่อมปรากฏแต่จิตใจของบรรดาสาธุชนทั้งหลาย โดยไม่มีวันที่จะลืมเลือนได้ สิริอายุ ๕๙ ปี
#อาลัยพระจารย์(องค์หลวงปู่)
เมื่อพระอาจารย์ยังคงดำรงอยู่ ก็ดูเหมือนไม้ใบใหญ่ที่ใบหนา
เป็นที่พักร่มเงาเหล่าประชา ทั้งบรรดาญาติมิตรศิษย์ทั้งปวง
พระอาจารย์น้ำใส ใจยืนยง จิตมั่นคงดำรงศาสนา
ปฏิบัติเคร่งครัด วิปัสสนา ออกเที่ยวป่า ธุดงค์ปลงอาศัย
พระอาจารย์มีใจมุมานะ พยายามละกิเลสเหตุให้หลง
เข้าป่าเขาลำเนาไพรใจซื่อตรง จิตมั่นคงดำรงต่อพระธรรม
เพื่อจะนำไปสู่ความร่มเย็น จะได้เห็นแต่องค์พระสัมมา
พระอาจารย์ตักษัยอาลัยโลก ให้เศร้าโศกเสียใจอาลัยหลาย
เหล่าประชาคณาญาติท่านมากมาย กล่าวเสียดายอาลัยไปตามกัน
พระอาจารย์ล่วงลับดับขันธ์แล้ว เท่ากับแก้วในตาเผ่นเดนหนี
ใครหนอจะเมตตาปราณี ชีวิตนี้จึงจะวัฒนา
โอ้อนิจจาพระยามัจจุราช ช่างบังอาจฟาดฟันชีวิตหนี
มัจจุราชชาติชั่วตัวอัปปรีย์ ไม่ปราณีจุนคร่าพาท่านไป
ถ้ากระไรศิษย์นี้มีสามารถ ช่วยชีวาตม์อาจารย์ฟื้นคืนได้
ถึงจะยากแสนยากลำบากกาย ไม่ดูอายต่อสู้กู้ชีวี
แต่ศิษย์นี้สุดที่จะต่อสู้ มฤตยูฆ่าพาล่องหน
ทุกๆคนต้องพร้อมยอมจำนน ไม่อาจทนต่อต้านประการใด
พระจอมไตรเปิดไขตรัสไว้ว่า สังขาราไม่เที่ยงเพียงนี้หนอ
เกิดแล้วแก่แปรเจ็บไม่เพียงพอ แถมยังต่อความตายน่าหน่ายจัง
ขอความดีที่สร้างเป็นทางผล บันดาลดลพ้นทุกข์ไปสุขศานต์
สู่สวรรค์ชั่วทิพย์และนิพพาน ขออาจารย์สงบสุขทุกภพเทอญฯ.
หลังจากหลวงปู่ได้มรณภาพลงแล้ว คณะศิษยานุศิษย์ได้เก็บสรีระสังขารเพื่อบำเพ็ญกุศลตามประเพณี และได้หารือกันไว้ว่าควรเก็บไว้เพียง ๗ วันเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของท่าน เพราะตัวท่านเองไม่ให้เก็บเอาไว้นานจะเป็นภาระหนักให้ลูกหลานญาติโยม ในที่สุดทางคณะลูกศิษย์ญาติโยมก็ได้ทำตามเจตนา จวนจะถึงวันและเวลาประชุมเพลิงบรรดาสานุศิษย์ทั้งหลาย บ้านใกล้ บ้านไกล ต่างก็ทยอยกันมาเพื่อแสดงความอาลัยในวาระสุดท้าย แห่งการจากไปของครูอาจารย์ พระเจ้าพระสงฆ์ญาติโยมมารวมกันเป็นปึกแผ่นแน่นหนา มาจากทางสกลนครบ้าง มาจากทางศรีษะเกษบ้าง มาจากทางอุบลบ้างฯลฯ คงถือได้ว่าเป็นประวัติการณ์อีกครั้งหนึ่งเมื่อเวลาและค่ำคืนวันนั้น เวลาประมาณ ๒๒:๐๐ น. พระเพลิงที่บรรดาครูอาจารย์ ญาติโยมทั้งหลาย ได้ร่วมกันทำฌาปนกิจถวายในวาระสุดท้ายนั้น ก็ได้ลุกโชติช่วงชัชวาลย์สว่างไสวไปทั่วบริเวณ เป็นเหตุให้บรรดาประชาชนญาติโยมสานุศิษย์ต่างก็ปลงธรรมสังเวชสลดจิตเป็นยิ่งนัก บ้างก็อดกลั้นน้ำตาเอาไว้ไม่ได้ “พญามัจจุราชเป็นผู้กล้าหาญมาก”ไม่เคยฟังเสียงอ้อนวอนขอร้องของใครเลย
พอถึงตี ๕ ของนาฬิการุ่งสางใกล้สว่าง ต่างคนก็หาขันน้ำ หาภาชนะเพื่อมาเก็บอัฐิธาตุของพระอาจารย์ บางคนมัวแต่นอนหลับทับสิทธิ์ จนหมู่เพื่อนเก็บกันไปหมดแล้ว ตัวเองยังโซซักโซเซ มาขอส่วนแบ่งอัฐิธาตุ ก็คงได้แต่เถ้าถ่านเท่านั้นเอง
จากนั้นก็นำอัฐิที่เก็บได้ล้างให้สะอาด ตากแดดให้แห้งแล้วบรรจุเข้าโกฏิเพื่อเก็บเอาไว้เพื่อกราบไหว้บูชาต่อไป
#เหตุอัศจรรย์เกิดขึ้นอีก
โดยไม่มีใครคาดการณ์ได้ กล่าวคือ เมือประชุมเพลิงสรีระสังขารหลวงปู่เสร็จแล้ว เรียบร้อยแล้วผ่านไปได้ประมาณ ๑๕ วัน เท่านั้น บังเอิญอัฐิธาตุของครูบาอาจารย์ ได้กลายเป็นสีใสดังแก้ว ซึ่งเรียกว่า “อัฐิแปรสภาพไปเป็นพระธาตุ” ซึ่งก็ถือว่าแปลกพิสดาร ไปกว่าคนธรรมดาสามัญ ก็คงหมายความว่าจิตใจของครูอาจารย์ได้มีความบริสุทธิ์ผุดผ่องปราศจากซึ่งธุลี และความเศร้าหมองทั้งปวง
แม้สังขารของท่านได้จากไปแล้ว ยังเหลือแต่อัฐิธาตุเถ้าถ่าน เท่านั้นก็แปรเปลี่ยนเป็นความอัศจรรย์ใจให้พวกเราได้เห็นเต็มตาเต็มใจ จะได้กราบไหว้เป็นขวัญตาขวัญใจตลอดไป โดยไม่มีวันลืมเลือน และบางท่านบางคนได้เอาเถ้าถ่านได้อัฐิไปเล็กๆน้อยๆ ใส่ตลับไว้พอเป็นดูเห็นแต่ตลับเปล่าก็มีหลายคน อันนี้เป็นการแสดงอภินิหารให้คนนั้นได้เห็น และได้ตื่นเนื้อตื่นตัวว่า บาปมี บุญมี นรกมี สวรรค์มี
และคณะญาติโยมสาธุชนทั้งหลายหวังอย่างยิ่งว่า จิตวิญญาณของครูอาจารย์คงไปสู่สุคติโลกของพระนิพพานอันเป็นแดนสุขเกษม ที่ต้องการปรารถนาตามจุดหมายปลายทางที่ตั้งใจเอสไว้ทุกประการเทอญ….
(เรียบเรียงคัดลอกจากหนังสือ อุบลราชธานี ๒๐๐ ปี เนื่องในวันรวมญาติพี่น้อง พระราชวชิรโสภณ วิ. หลวงปู่หลอ นาถกโร วัดถ้ำพวง อ.ส่องดาว จ.สกลนคร )
---------
ขอนอบน้อมพระอริยสงฆ์ด้วยเศียรเกล้า
อนุโมทนาบุญกุศลจากการอ่าน
ขอขอบพระคุณที่มา ,FB พระกรรมฐานสายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
ขอสรรพมงคลมีแด่ท่าน
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น