ชีวประวัติ ปฏิปทาหลวงปู่พระมหาทองสุก สุจิตฺโต วัดป่าสุทธาวาส อ.เมือง จ.สกลนคร


     ประวัติและปฏิปทา หลวงปู่มหาทองสุก สุจิตโต  
     วันนี้วันที่ ๑๖ สิงหาคม​ ๒๕๖๗ เป็นวันคล้ายวันมรณภาพของหลวงปู่มหาทองสุก สุจิตฺโต รำลึก ๖๑ ปี อาจาริยบูชาคุณ พระครูอุดมธรรมคุณ(หลวงปู่มหาทองสุก สุจิตฺโต) อดีตเจ้าอาวาสวัดป่าสุทธาวาส อ.เมือง จ.สกลนคร หลวงปู่มั่น ท่านเคยกล่าวชมเชย หลวงปู่มหาทองสุกว่า ครั้งหนึ่งท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ได้เล่าให้ฟังว่า ไปธุดงค์กับท่านพระครูอุดมธรรมคุณ พักอยู่กลางป่าบนดอยจังหวัดเชียงใหม่ ไฟได้ไหม้ล้อมเข้ามาทุกทิศ ท่านพระครูอุดมธรรมคุณได้หอบเอาบริขารของท่านพระอาจารย์มั่นมัดไว้กับตัว แล้วถือคันไม้กวาดตีไฟ กวาดใบไม้จนไฟสงบได้ ท่านพระอาจารย์มั่น ยังพูดเสมอว่า “มหาทองสุกเป็นคู่ทุกข์คู่ยากกัน”

ท่านถือกำเนิด ตรงกับวันศุกร์ที่ ๘ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๕๑ ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๖ ปีวอก ณ ต.ห้วยป่าหวาย อ.หนองโคน (ปัจจุบันคือ อ.พระพุทธบาท) จ.สระบุรี 

• การบรรพชา-อุปสมบท
ภายหลังที่ได้ศึกษาอักขระสมัยตามสมควรแล้ว ท่านก็ได้เข้าไปศึกษาธรรมเพื่อฝึกบรรพชาเป็นสามเณรต่อไป เมื่ออายุ ๑๖ ปี ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณร โดยมีพระธรรมธีรราชมหามุนี (สิริจนฺโท จันทร์ ที่รู้จักกันในสมัยนั้นมากว่า พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ นักธรรมกถึกเอกในสมัยนั้น) เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๖ อยู่ที่วัดปทุมวนาราม ท่านได้พยายามศึกษาปริยัติธรรมจนสอบนักธรรมชั้นตรีได้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๖ ครั้นอายุครบที่จะอุปสมบทได้แล้ว ท่านก็ได้อุปสมบท เมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๐ ณ พัทธสีมาวัดปทุมวนาราม อำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนคร โดยมีพระปัญญาพิศาลเถร (หลวงปู่หนู ฐิตปุญฺโญ) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระปลัดบุญมี อินทเชฏฐโก เป็นพระกรรมวาจาจารย์ สำเร็จญัตติจตุตถกรรมวาจา เวลา ๑๓.๓๘ น.

• ประวัติการไปธุดงค์และการปฎิบัติศาสนกิจต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

• ปี พ.ศ.๒๔๗๔ 
ภายหลังจากออกพรรษาปีนี้ ท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺทเถร) ได้ขอให้ท่านพระครูอุดมธรรมคุณไปเป็นครูสอนปริยัติธรรมที่วัดเจดีย์หลวง ท่านได้ไปตามคำขอร้องนั้น และได้ทำการสอนปริยัติธรรม ซึ่งพอดีกับท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถร พระอาจารย์ใหญ่ของคณะกัมมัฏฐาน ก็ได้ถูกขอร้องจากเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ให้มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวงเช่นเดียวกัน

ท่านได้พักอยู่ใต้ถุนกุฏิท่านพระอาจารย์มั่น ท่านว่าได้ประโยชน์ ๒ ประการ ประการที่ ๑ ท่านได้ฟังเทศน์ท่านพระอาจารย์มั่น ประการที่ ๒ ได้สอนปริยัติธรรมให้ภิกษุสามเณร บางครั้งท่านพระอาจารย์มั่นจะมานั่งฟังการแปลหนังสือบาลีด้วยความสนใจ

ตอนกลางคืน ท่านพระอาจารย์มั่นได้สอนกัมมัฏฐาน วิธีปฏิบัติตั้งแต่เบื้องต้นของการทำจิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสอนของท่านหนักไปทางกัมมัฏฐาน คือให้พิจารณา ผม-ขน-เล็บ-ฟัน-หนัง ท่านได้ให้เหตุผลว่า “ทุกคนที่เกิดมาได้ไปติด คือยึดมั่นที่อื่นหรอก โดยเฉพาะก็มายึดมั่น ถือมั่นที่ ผม-ขน-เล็บ-ฟัน-หนัง นี้เอง ให้พยายามพิจารณาให้ตามความเป็นจริงแก่การยึดถือ ผม-ขน-เล็บ-ฟัน-หนัง เป็นสิ่งสวยงาม ด้วยสามารถแห่งกำลังสมาธิ ก็จะเป็นทางไปสู่ความเป็นอริยเจ้าได้”

• ปี พ.ศ.๒๔๗๕
ท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์มรณภาพแล้ว ท่านพระอาจารย์มั่นก็ธุดงค์เข้าไปในป่าภูเขาไม่กลับ เมื่อท่านพระอาจารย์มั่นเที่ยวแสวงหาความสงบวิเวกตามถ้ำหุบห้วยภูเขา อยู่กับพวกชาวป่าชาวเขา ไม่รับหน้าที่อะไรทั้งหมดที่ทางการแต่งตั้งถวาย โดยเฉพาะท่านได้ถูกแต่งตั้งเป็นพระครูวินัยธร ฐานานุกรมของท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ เจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวง

เมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นอย่างนี้ ท่านพระครูอุดมธรรมคุณท่านจึงกลับมาที่วัดปทุมวนาราม (วัดสระปทุม) เมื่อท่านกลับมาแล้ว ทางวัดก็ขอร้องให้ท่านสอนบาลีต่อไปอีก แต่ท่านไม่รับ เนื่องจากท่านมีความประสงค์แน่วแน่ที่จะปฏิบัติกัมมัฏฐาน คือการปฏิบัติทางด้วนจิตใจ ประกอบกับที่ได้รับการแนะนำจากท่านพระอาจารย์มั่นมาแล้ว

• ปี พ.ศ.๒๔๗๖
ดังนั้น ปีนี้ท่านจึงได้เดินทางร่วมกับพระราชมุนี (โฮม โสภโณ) และสามเณรประมัย กาฬเนตร สามเณรประมัยนี้แตกฉานในการปฏิบัติมาก สามเณรจะคอยเป็นผู้แนะนำทางจิตอยู่เสมอ และพวกเราก็เชื่อถือสามเณรมาก ได้พักจำพรรษาที่บ้านหนองคาง ประจวบคีรีขันธ์ ท่านได้ปรารภความเพียร เริ่มบำเพ็ญกัมมัฏฐานอย่างจริงจัง เมื่อสงสัยอะไรก็ได้สามเณรประมัยเป็นที่ปรึกษา

ณ ปีนี้เอง สามเณรประมัยปรารถนาความเพียรอย่างยิ่งใหญ่ ไม่นอนตลอดพรรษา จนเชื่อมั่นตนเองว่าได้สำเร็จพระอนาคามี

ท่านเล่าว่า วันหนึ่ง ท่านกับสามเณรประมัยกำลังนั่งสนทนาธรรมกันอยู่ ก็ได้มีงูจงอางขนาดใหญ่ประมาณเท่าต้นหมาก วิ่งพุ่งปราดเข้ามาตรงพวกเราทั้งสอง ไม่ทราบว่าจะหนีมันไปอย่างไร จึงหยุดพูด แล้วเจริญเมตตาฌาน ทำจิตให้สงบ ขณะที่งูตัวนั้นมันกำลังจะเข้ามาถึงพวกเรา อีกประมาณวาเศษๆ ก็ได้มีสุนัข ๕ ตัวกระโดดเข้ามาขวางทางงู ได้เกิดการต่อสู้กันระหว่างสุนัข ๕ งู ๑ งูสู้ไม่ไหวเลยหนีไป แต่ในวัดที่แท้จริงไม่มีสุนัขสักตัวเดียว

หลังจากที่จำพรรษาที่บ้านคางแล้ว ท่านเดินธุดงค์จากนั้นเพื่อติดตามท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถร เรื่อยไป จากประจวบคีรีขันธ์ลงมาเขาเต่า ไปทางจังหวัดสุพรรณบุรี เดินผ่านดงไปจะไปอุตรดิตถ์ ไม่เคยเดินทางลัด ไปหลงอยู่ในดง ๓ วัน ไม่มีบ้านคนเลย นอนอยู่ในป่าใหญ่ มีแต่เสียงช้างเสียงเสือ เป็นที่น่าสะพรึงกลัวเป็นอย่างยิ่ง ทำให้ท่านไม่ต้องหลับนอน พักทำสมาธิอย่างถวายชีวิต ใน ๓ วันไม่ได้ฉันอาหารเลย มีแต่ฉันน้ำ เพราะไม่มีบ้านคน ท่านว่า

“แหม... เราตอนนี้นึกว่าตายแน่ ๆ จึงทำให้เกิดสมาธิอย่างดี นับเป็นประวัติการณ์สำคัญทีเดียว ท่านพระอาจารย์มั่นท่านสอนไว้เมื่ออยู่วัดเจดีย์หลวง นำมาใช้เมื่อคราวสำคัญในคราวนี้ จนทะลุดงใหญ่ออกมาได้ กินเวลา ๓ วัน ๓ คืน โล่งใจไป”

จากนั้นก็มาถึงจังหวัดอุตรดิตถ์ วกกลับมาปากน้ำโพ ไปถึงแพร่ วกกลับมาพิจิตร ไปพิษณุโลก กลับมาอุตรดิตถ์อีก ทั้งนี้เดินเท้าทั้งนั้น และก็พักอยู่ตามป่า พักอยู่อุตรดิตถ์ บนภูเขา เป็นวัดเก่า สืบถามได้ความว่าซื่อ วัดสันทพงษ์ ท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) เป็นผู้มาก่อสร้างวัดนี้ ญาติโยมทั้งหลายก็พากันมานิมนต์จะให้อยู่สถาปนาวัดนี้ ท่านบอกว่าจะไปหาท่านพระอาจารย์มั่น ท่านจึงเดินทางต่อไป

ออกจากวัดนี้ ท่านก็เดินข้ามภูเขาแสนที่จะเหน็ดเหนื่อย ข้ามไม่รู้จักพ้นภูเขาเลย แต่ศรัทธาในท่านพระอาจารย์มั่นทำให้ความเหน็ดเหนื่อยหายไปหมด โดยความพยายาม ท่านข้ามภูเขาไปถึงจังหวัดลำปางได้สำเร็จ ท่านบอกว่า ครั้งนั้นก็เป็นครั้งหนึ่งแห่งความพยายามที่ลำบากยิ่ง แต่สำเร็จโดยอาศัยบารมีของท่านพระอาจารย์มั่น ทำให้เกิดกำลังใจขึ้นแก่ท่านอย่างอัศจรรย์ทีเดียว

• ปี พ.ศ.๒๔๗๗
เป็นเวลาจวนจะเข้าพรรษาเสียแล้ว ไม่สามารถที่จะติดตามท่านพระอาจารย์มั่นพบ จึงจำพรรษาที่ “วัดป่าเชียงแสน” อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ออกพรรษาแล้ว ท่านกลับมาที่บ้านป่าสักขวาง ได้อยู่ที่นี้เป็นเวลาหลายเดือน ก็เริ่มเดินทางไปสู่จุดที่ต้องการ คือการพบท่านพระอาจารย์มั่น จึงเดินธุดงค์ไปถึงถ้ำเชียงดาว พักอยู่พอสมควร ก็ไปถึงบ้านดงแดง มาเจอดงใหญ่เข้าอีกแล้ว ท่านก็เดินธุดงค์ผ่านดงนี้ ภายในดงหาบ้านคนยาก ก็พอดีพบชาวบ้านกำลังตั้งร้านเลื่อยไม้กันอยู่ ถามทางที่จะเดินต่อไปก็พอทราบว่าจะต้องค้างคืนในดงนี้ เพราะจะไม่สามารถข้ามดงไปได้ในวันนี้ เมื่อไปต่อไปก็ต้องขึ้นภูเขา พอถึงหลังภูเขารู้สึกเหนื่อยมากและก็มืดพอดี ท่านจึงต้องพักค้างคืนบนภูเขานี้

การจำวัดบนภูเขา ท่านก็พอดีไปพบแอ่งน้ำแห่งหนึ่ง ท่านก็จำวัดในที่ใกล้ ๆ แห่งน้ำนั้น พอตกกลางดึก พวกสัตว์จะมาลงกินน้ำ พอเห็นกลดของท่านเข้า ไม่กล้าเข้ามา พวกมันร้องกันใหญ่ เป็นเสียงต่าง ๆ นานาน่าสะพรึงกลัวในเสียงเหล่านั้น เป็นคล้ายช้างก็มี คล้ายเสือก็มี คล้ายกวางก็มี และมีเสียงนกต่าง ๆ ที่น่ากลัว เป็นเสียงแปลกประหลาดที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน ทำให้ต้องลุกขึ้นนั่งสมาธิอยู่ตลอดเวลา เห็นว่าไม่ได้การ เพราะจะต้องเดินไปให้ถึงบ้าน มิฉะนั้นวันนี้จะไม่ได้ฉันอาหาร พอดาวประกายพฤกษ์ขึ้น ท่านรีบจัดของเสร็จก็เดินทางต่อไป

การเดินทางของท่าน ไปถึงบ้านป่าฮิ้นตามคำบอกเล่าของพวกเลื่อยไม้ จึงพักบิณฑบาตที่บ้านป่าฮิ้น ที่บ้านป่าฮิ้นนี้มีสิ่งสำคัญอันเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านนับถือกัน คือเขาผายอง พวกเขาพากันเชื่อว่า สถานที่ตรงนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จมาประทับยืนอยู่ที่นี้ เพราะเป็นหน้าผาที่สวยงามและแปลกประหลาดทีเดียว

ความจริงท่านตั้งใจจะจำพรรษาที่นี้ เพราะเป็นที่วิเวกดี แต่โดยความตั้งใจยังไม่ถึงจุดที่หมาย คือการพบท่านพระอาจารย์มั่น จึงไม่ได้จำพรรษาที่นี้ ได้ข่าวว่าท่านอาจารย์สาร (เป็นศิษย์ผู้ใหญ่ของท่านพระอาจารย์มั่น) อยู่ที่บ้านกกกอก เพื่อจะได้ไต่ถามถึงที่อยู่ของท่านพระอาจารย์มั่นท่านจึงไปที่นั่น พบกับท่านอาจารย์สารพอดี และได้ทราบข่าวว่าท่านพระอาจารย์มั่นอยู่บนดอยกับปะหล่อง (ชาวเขา) ท่านได้เดินทางต่อขึ้นไปดอยแม่กน เป็นดอยสูงพอประมาณ ขึ้นครึ่งชั่วโมงกว่าถึงยอดดอย แล้วก็เดินกลับมาทางบ้านป่าฮิ้น ผ่านไปทางอำเภอพร้าว ได้ติดตามถามข่าวท่านพระอาจารย์มั่นจนจวบใกล้เข้าพรรษายังไม่พบ

• ปี พ.ศ.๒๔๗๘
เมื่อเวลาจวนเข้าพรรษา ท่านก็จัดเสนาสนะตามมีตามได้ อยู่จำพรรษากับท่านอาจารย์สาร ปรารภความเพียรทางใจเป็นที่ตั้ง รู้สึกว่าเกิดความสงบใจได้ดี และก็ได้ฟังธรรมจากท่านอาจารย์สารแทนท่านพระอาจารย์มั่นไปพลาง ก็ได้ผลพอสมควรอยู่

ครั้นออกพรรษาเกิดเป็นไข้มาลาเรีย รู้สึกเกิดทุกข์เวทนามาก ท่านพยายามฝืนแล้วก็เดินทางต่อไป แต่รู้สึกอ่อนเพลียมาก จึงได้มาพักฟื้นอยู่ที่วัดบ้านโบสถ์ชั่วคราว แล้วท่านก็กลับไปทางดอยแม่กนอีก จากนั้นท่านก็ไปบ้านป่าไหน

ณ ที่นี้เอง จุดมุ่งหมายปลายทางที่ท่านได้พยายามบุกบั่นมาจนจะเอาชีวิตไม่รอดก็พลันสำเร็จขึ้นแก่ท่าน คือพบท่านพระอาจารย์มัน ท่านพระอาจารย์มั่นไม่ทราบว่าท่านรู้ว่าเราอยู่บ้านนี้ได้อย่างไร จู่ ๆ เวลาเย็นประมาณบ่าย ๓ โมงท่านก็มาปรากฏตัวให้เห็น ณ ที่อยู่นี้เอง ท่านมาองค์เดียว แบกกลดสะพายบาตรมารุงรังทีเดียว

ท่านมีความรู้สึกดีใจเป็นล้นพ้นเหลือประมาณ รีบไปรับบริขารมา แล้วท่านพระอาจารย์มั่นก็ทักท่านเป็นประโยคแรกว่า
“มาดนแล้วบ่” แปลว่ามานานแล้วหรือ

ท่านตอบว่า ๒-๓ วันแล้ว

ท่านพระอาจารย์มั่นท่านบอกว่า
“เราอยู่กับพวกมูเซอบนดอยแม่กะตำ เราเดินทางมาเพื่อจะพบกับคุณ (หมายถึงอาจารย์มหาทองสุก) ผ่านบ้านป่าแนะ เราตั้งใจจะมาแนะนำอบรมให้ในทางจิตใจ” ท่านพระอาจารย์มั่นท่านพูดกับท่าน

จากนั้น ท่านพระอาจารย์มั่นก็พาท่านไปที่บ้านปู่จองน้อย ตอนนี้ซาวบ้านแกงดาว (เต่ารั้ง) ทำเนื้อกวางให้ฉัน เขาหุงข้าวไม่รินน้ำดีมาก กำลังพื้นไข้ ฉันอร่อยมาก วิธีหุงข้าวเขาแปลกดี เขาเอาข้าวมาต้มพอแตกเม็ด เขาขุดไม้เป็นราง ๑ ศอก เทข้าวที่ต้มแล้วลงไป คนจนนิ่ม แล้วเอาขึ้นมานึ่งอีกที ฉันแล้วดีจริง ๆ อร่อยจริง ๆ

ตอนท่านมาองค์เดียวกับท่านพระอาจารย์มั่น ท่านพระอาจารย์มั่นเริ่มสอนวิชาปฏิบัติอย่างจริงจัง ณ ที่บ้านปู่จองน้อยนี้ ทั้งพานั่งสมาธิและเดินจงกรม และสำรวจวิถีจิต และท่านก็แนะนำถึงกัมมัฏฐาน ๕ มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ให้พิจารณาให้เห็นตามความเป็นจริงด้วยสามารถแห่งสมาธิ

และท่านแนะนำต่อไปว่า การพูดนั้นเป็นของง่ายนิดเดียว แต่การทำนั้นเป็นของยาก เช่น พูดวา “ทำนา” เพียงเท่านั้นเราทำกันไม่รู้กี่ปี ไม่รู้จักแล้ว และปริยัติที่เรียนมานั้น ให้เก็บไว้ให้หมดก่อน ใช้แต่การพิจารณาตามความเป็นจริง เพื่อให้เกิดความสงบอย่างจริงจัง

ท่านพระอาจารย์มั่นท่านอธิบายต่อไปว่า
สมาธิก็ดี มีคำว่า ขณิกสมาธิ-อุปาจารสมาธิ-อัปปนาสมาธิ และมีคำว่า วิตก วิจารณ์ ปีติ สุข เอกัคคตา แต่ถ้าเราจะให้ใจของเราเป็นฌาน เราจะนั่งนึกว่า นี่วิตก นี่วิจาร นี่ปีติ นี่สุข นี่เอกัคคตา มันจะเป็นฌานขึ้นมาไม่ได้ จึงจำต้องละถอนสัญญาภายนอกด้วยสามารถแห่งอำนาจของสติ จึงจะเป็นสมาธิ เป็นฌาน

เมื่อท่านพระอาจารย์มั่นสอนแนวทางแห่งวิธีปฏิบัติได้ ๒ วัน ท่านก็ส่งให้ไปในภูเขาลึก อยู่ห่างจากแม่กนประมาณ ๑๐ กม. และให้ไปแต่ผู้เดียว เพื่อให้ทำความเพียรอย่างเต็มที่ แล้วท่านพระอาจารย์มั่นท่านก็อยู่ที่แม่กนนั่นเอง

การเดินทางไปภูเขานั้น เป็นห้วยลำธารเดินเลาะลัดไปเป็นทางที่ลำบากมาก แต่ก็เป็นเรื่องของความเต็มใจ ความลำบากเหล่านั้นก็เป็นสิ่งธรรมดาไป

ครั้นถึงอุโบสถ ต้องมารวมกันที่จุดหมาย คราวนี้ก็เอาบ้านแม่กนเป็นจดหมายประชุมกัน การประชุมทำอุโบสถนั้น นอกจากจะทำสังฆกรรมแล้ว ท่านพระอาจารย์มั่นก็ให้โอวาทต่าง ๆ เท่าที่จะแนะนำอุบายสอน และไต่ถามถึงการปฏิบัติที่ผ่านมาว่า องค์ไหนเป็นอย่างไร ได้ผลอย่างไร จะต้องแก้ไขอย่างไร เป็นการทดสอบการปฏิบัติไปในตัว

อุโบสถนี้มี ๕ องค์ ท่านพระอาจารย์ใหญ่ (มั่น) ท่านอาจารย์สาร ท่านอาจารย์ขาว เรา (ท่านพระครูอุดม) และท่านมนู

• ปี พ.ศ.๒๔๗๙

หลังจากลงอุโบสถนี้แล้ว ท่านพระอาจารย์มั่นก็ออกจากบ้านนี้ไปอยู่ที่บ้านแม่งับ มีบ้านร้างอยู่ ๑ หลัง คนแถว ๆ นี้มีอาชีพขุดเหมือง เศรษฐีเขาเอาน้ำไปจากแม่กนและแม่งับสาหรับทำเหมือง เป็นอันว่าปีนี้ ๒๔๗๙ ได้จำพรรษากับท่านพระอาจารย์มั่น ณ ที่นี้ด้วยกันทั้ง ๕ องค์

มีท่านทองดีมีความปรารถนาอย่างยิ่งที่จะไปพบท่านพระอาจารย์มั่น ท่านทองดี ศิษย์ท่านอาจารย์สิงห์ ขนฺตฺยาคโม พอติดตามมากับท่าน เห็นความทุกข์ยากลำบากในการบุกบั่นเพื่อจะไปพบท่านพระอาจารย์มั่น ทั้ง ๆ ที่อุตส่าห์ติดตามมาจนได้ข่าวท่านพระอาจารย์มั่นแล้ว เลยกลับใจไม่ไปหาท่านอาจารย์ใหญ่ แล้วก็เลยไม่ได้พบกันอีก

• ปี พ.ศ. ๒๔๘๐
หลังจากจำพรรษาที่แม่กนนั้นแล้ว ออกพรรษาท่านก็ให้ไปทิศละองค์ เพื่อแสวงหาที่ทำความเพียร ต่างด้นดั้นไปตามภูเขาป่าใหญ่ อยู่แห่งละ ๕ คืนบ้าง ๑๐ คืนบ้าง เมื่อเห็นว่าที่ไหนจะสงบวิเวกดีก็อยู่นานหน่อย ถ้าเห็นว่าจะเป็นการกังวลด้วยผู้คน กลัวจะเนิ่นช้าในการทำความเพียรก็รีบเดินทางต่อไป

เมื่อต่างเดินทางไปคนละทิศละทางแล้ว ท่านไปทันพบกับท่านพระอาจารย์มั่นที่บ้านยาง แม่กะตั๋ง อันเป็นที่อยู่ของพวกมูเซอ บ้านแม่กะตั๋งนี้เป็นที่สงบวิเวกดีมาก ท่านพระอาจารย์มั่นจึงอยู่นาน และอยู่กับพวกชาวเขา สอนให้ชาวเขารู้จักศาสนาได้มาก มาคราวนี้พบกับท่านอาจารย์เทสก์ เทสรํสี ท่านอาจารย์อ่อนสี สุเมโธ จึงภาวนาทำความเพียรอยู่ที่นี้ ๑๐ วัน

ตอนนี้ท่านพระอาจารย์มั่นท่านประสงค์จะไปอยู่แต่ผู้เดียวไม่ให้ใครยุ่ง ท่านอาจารย์เทสก์กับท่านอาจารย์อ่อนสีไปส่งท่านพระอาจารย์มั่นไปทางบ้านยาง เดินทางกันไป ๒ คืน

พอมาถึงตอนนี้ เสือชุมมาก ชาวบ้านไม่ยอมให้พวกเราเดินทางไปเอง พวกเขาพาพวกชาวบ้านไปส่ง ในระยะกลางดงนั้นมีแต่รอยเสือให้ขวักไขว่ไปหมด และเสือเหล่านั้นชอบกินวัวควาย ซาวบ้าน ตลอดถึงสุนัข ถ้าคนหลงไปคนหนึ่ง ๒ คนก็ต้องตกเป็นเหยื่อของมันแน่แท้ ชาวบ้านกลัวมาก จึงต้องยกพวกไปส่งพวกเรา ทั้ง ๆ ที่ท่านพระอาจารย์ใหญ่ท่านก็ห้าม แต่ก็ไม่ขัดศรัทธา เขาจะไปส่งก็ดีเหมือนกัน

ปีนี้จำพรรษาที่บ้านแม่เจ้าทองทิพย์ (เป็นชื่อหมู่บ้าน) อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย มีท่านพระอาจารย์มั่น ท่านอาจารย์เทสก์ ท่านอาจารย์ขาว ท่านอาจารย์สาร ท่านมนู และท่านพระครูอุดมฯ ในปีนี้ท่านพระอาจารย์มั่นได้พาทำความเพียรเป็นกรณีพิเศษ และท่านได้อธิบายข้อปฏิบัติและปฏิปทาต่าง ๆ มากมาย เช่น

๑. การปฏิบัติทางใจ ต้องถือการถ่ายถอนอุปาทานเป็นหลัก

๒. การถ่ายถอนนั้น ไม่ใช่ถ่ายโดยไม่มีเหตุ ไม่ใช่ทำเฉย ๆ ให้มันถ่ายถอนเอง

๓. เหตุแห่งการถ่ายถอนนั้นต้องสมเหตุสมผล ท่านอ้างเอาพระอัสสชิแสดงในธรรมข้อที่ว่า
เย ธมฺมา เหตุ ปภวา เตสํ เหตุ ตถาคโต
เตสญฺจ โย นิโรโธ จ เอวํ เวที มหาสมโณ

ธรรมทั้งหลายเกิดมาจากเหตุ ธรรมทั้งหลายเหล่านั้นดับไปเพราะเหตุ พระมหาสมณะคือพระพุทธเจ้ามีปกติตรัสดังนี้

๔. เพื่อให้เข้าใจว่า การถ่ายถอนอุปาทานนั้นมิใช่ไม่มีเหตุและไม่สมควรแก่เหตุ ต้องสมเหตุ สมผล

๕. เหตุได้แกการสมมุติบัญญัติขึ้น แล้วหลังตามอาการนั้น เริ่มต้นด้วยการสมมติตัวของตนก่อน พอหลงตัวเราแล้วก็ไปหลงผู้อื่น หลงว่าเราสวยแล้วจึงไปหลงผู้อื่นว่าสวย เมื่อหลงตัวของตัวเองและผู้อื่นแล้ว ก็หลงพัสดุข้าวของนอกจากตัว กลับกลายเป็นราคะ โทสะ โมหะ

๖. แก้เหตุ ต้องพิจารณากัมมัฏฐาน ๕ คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ด้วยสามารถแห่งกำลังของสมาธิ เมื่อสมาธิขั้นต่ำ การพิจารณาก็เป็นฌานขั้นต่ำ เมื่อเป็นสมาธิขั้นสูง พิจารณาเป็นฌานชั้นสูง แต่ก็อยู่ในกัมมัฏฐาน ๕

๗. การสมเหตุผล หมายถึง คันที่ไหนต้องเกาที่นั้นถึงจะหายคัน คนติดกัมมัฏฐาน ๕ หมายถึงหลงหนังเป็นที่สุด เรียกว่าหลงกันตรงนี้ ถ้าไม่มีหนังคงจะหนีกันแทบตาย เมื่อหลงที่นี้ก็ต้องแก้ที่นี้ คือ เมื่อกำลังสมาธิพอแล้ว พิจารณาก็เห็นตามความเป็นจริง เกิดความเบื่อหน่าย เป็นวิปัสสนาญาณ

๘. เป็นการเดินอริยสัจจ์ เพราะเป็นการพิจารณาตัวทุกข์ ดังที่พระองค์ทรงแสดงว่า ชาติปิทุกข์ ชราปิทุกข์ พยาธิทุกข์ มรณัมปิทุกข์ ใครเกิด ใครแก่ ใครเจ็บ ใครตาย กัมมัฏฐาน ๕ เป็นต้นปฏิสนธิ เกิดมาแล้ว แก่แล้ว ตายแล้ว จึงชื่อว่า พิจารณากัมมัฏฐาน เป็นทางพ้นทุกข์ เพราะพิจารณาตัวทุกข์จริง ๆ

๙. ทุกขสมุทัย เหตุเกิดทุกข์ เพราะมาหลงกัมมัฏฐาน ๕ ยึดมั่น จึงเป็นทุกข์ เมื่อพิจารณาก็ละได้ เพราะเห็นตามความเป็นจริง สมกับคำว่า รูปสมึปิ นิพฺพินฺทติ เวทนายปิ นิพฺพินฺทติ สญฺญายปิ นิพฺพินฺทติ สงฺขาเรสุปิ นิพฺพินฺทติ วิญฺญาณสฺสมิปิ นิพฺพินฺทติ เมื่อเบื่อหน่ายในรูป (กัมมัฏฐาน ๕) เป็นต้นแล้ว ก็คลายความกำหนัด เมื่อเราพ้น เราก็ต้องมีฌานทราบชัดว่าเราพ้น

๑๐. ทุกขนิโรธ ดับทุกข์ เมื่อเห็นกัมมัฏฐาน ๕ เบื่อหน่าย ชื่อว่า ดับอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่น เช่นเดียวกับท่านสามเณรสุมนะ ศิษย์ท่านพระอนุรุทธ์ พอปลงผมหมดศีรษะ ก็ได้สำเร็จ พระอรหันต์

๑๑. ทุกขคามินีปฏิปทา ทางไปสู่ที่ดับ คือการเป็นปัญญาสัมมาทิฏฐิ ปัญญาเห็นชอบ เห็นอะไร? เห็นอริยสัจจ์ ๔ อริยสัจจ์ ๔ ได้แก่อะไร? ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค การเห็นจริงแจ้งประจักษ์ด้วยสามารถแห่งสัมมาสมาธิ ไม่หลงติดสุข มีสมาธิเป็นกำลัง พิจารณากัมมัฏฐาน ๕ ก็เป็นองค์มรรค

หลัก ๑๑ ประการนี้กว้างขวาง ท่านพระอาจารย์มั่นท่านแสดงกว้างขวางมาก ท่านอาจารย์พระครูอุดมฯ ท่านก็บันทึกย่อ ๆ ไว้ เพื่อจะเป็นแนวทางปฏิบัติของท่าน เพราะปีนี้เป็นสำคัญทั้งศึกษาและปฏิบัติ มิใช่ศึกษาอย่างเดียว

ปฏิปทา ท่านพระอาจารย์มั่นแนะว่า การฉันหนเดียว การฉันในบาตร การบิณฑบาต การปัดกวาดลานวัด การปฏิบัติอุปัชฌาย์อาจารย์ การอยู่ป่าวิเวก เป็นศีลวัตรอันควรแก่ผู้ฝึกฝนขั้นอุกฤษฏ์จะพึงปฏิบัติ

หลังจากออกพรรษาแล้ว ท่านเกิดอาการไข้มาลาเรียกำเริบขึ้นอีก จึงลาท่านพระอาจารย์มั่นไปพักรักษาตัวอยู่ที่จังหวัดเชียงราย พอท่านหายดีแล้วกลับมาที่บ้านแม่เจ้าทองทิพย์ ไม่มีใครเหลืออยู่สักองค์เดียว ทุก ๆ องค์ต่างองค์ต่างไปวิเวกหมด ท่านจึงมาอยู่องค์เดียว กลางคืนเสือชุม มาคอยรบกวนอยู่ตลอดเวลา มาหาท่านใกล้ ๆ แต่มันก็ไม่ทำอะไร มาคอยจ้อง ๆ มองแล้วก็หายไป ครั้งแรกก็ทำให้เกิดความเสียว ๆ อยู่ แต่พอเคยกันเสียแล้วก็เฉย ๆ

อยู่มาเดือน ๓ ปีนี้ พระครูนพรัตนบูรจารย์ก็เลยมาพาสร้างพระเจดีย์ เพราะมีเจดีย์เก่าอยู่ที่นั้น ท่านพาชาวบ้านช่วยกันก่อสร้างเพิ่มเติม กินเวลาก่อสร้างถึง ๔ เดือน สำเร็จเอาเมื่อเดือน ๖ สำเร็จแล้ว ชาวบ้านก็พากันฉลองกันเป็นการใหญ่ เวลาฉลอง ท่านอาจารย์ขาว ท่านมนู มาร่วมการฉลองโดยการทำบุญตักบาตร ผู้คนไม่ทราบว่ามาจากไหนมากมาย เพราะคนเมืองนี้ชอบและเลื่อมใสในการก่อพระเจดีย์จริง ๆ มาถึงมาทำบุญ ไม่ต้องป่าวร้อง รู้แล้วมาเอง ท่านทุกองค์ต่างองค์ผลัดกันเทศน์โปรดญาติโยม ได้ประโยชน์ดีทีเดียว

• ปี พ.ศ.๒๔๘๑
หลังจากการก่อพระเจดีย์ฉลองเรียบร้อยแล้ว ก็เดินทางไปถ้ำผาจมใกล้เขตแดนพม่าถ้ำนี้สบายมาก จึงอยู่ทำความเพียรเสียระยะหนึ่ง พอท่านพักทำความเพียรแล้ว เวลาใกล้เข้าพรรษาจึงเดินทางกลับเชียงใหม่ พักอยู่จำพรรษาที่สันมหาพน การจำพรรษาปีนี้ไม่ได้อยู่กับท่านอาจารย์ใหญ่ แต่ก็เป็นที่สงบสงัดดีพอสมควร ท่านก็อยู่กัน ๒ องค์เท่านั้น เพราะต่างก็จะหาที่วิเวกทำความเพียรกันตลอดเวลา

หลังจากออกพรรษาแล้ว มีพระเขือง พระมนู พร้อมกับท่าน ได้เดินธุดงค์ต่อไป ทั้ง ๆ ที่ยังจับไข้มาลาเรียอยู่ทุกวัน ท่านก็ยังพยายามเพื่อจะไปหาที่อยู่ที่วิเวกที่สุด ขณะที่ท่านกำลังไปนั้นเผอิญพบกับพวก “เตียวต่าง” แปลว่าพวกพ่อค้าที่มีต่างบรรทุกบนหลังม้า พวกเขาพากันดีใจที่พบพระ เพราะว่าไปกับพระปลอดภัยดี และเขาก็ได้ทำบุญไปด้วย

วันนั้นค่ำแล้วก็หยุดพักต่างกัน เขาทำอาหารมื้อค่ำมาถวาย ท่านก็ไม่ฉัน พวกเขาพากันอ้อนวอนกันใหญ่ ท่านจึงแสดงเรื่องวินัยของพระให้เขาฟังว่า

“ผู้บวชเป็นพระแล้วครองผ้าเหลืองเป็นสมณศากยบุตรต้องรักษาพระวินัยยิ่งกว่าชีวิต วินัยนั้นมี ๒๒๗ ข้อ ข้อสำคัญคือปาราชิก ๔ ต่อมาสังฆาทิเสส ๑๓ อนิยตะ ๒ นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐ สุทธิกปาจิตตีย์ ๙๒ ปาฏิเทสนียะ ๔ เสขิยวัตร ๗๕ อธิกรณสมถะ ๗ ท่านอธิบายต่อไปว่า พระภิกษุนั้นต้องปฏิบัติตามวินัยจึงจะเป็นพระที่ดี ถ้าล่วงพระวินัยเป็นพระเลว พระเป็นผู้เสียสละทุกสิ่งทุกอย่าง แม้แต่ร่างกายจะต้องเสียสละเพื่อธรรมวินัย ดังนั้น พวกท่านทั้งหลายจะมาให้เราฉันอาหารในเวลาเช่นนี้ เราฉันไม่ได้”

พวกเขาว่า “ก็พระอื่น ๆ ทำไมเขาจึงฉันได้“

ท่านตอบว่า “นั้นคือพระเลว ไม่รักธรรมรักวินัย”

ทำให้พวก (เตียวต่าง) เกิดความเลื่อมใส ก็เลยเดินทางไปด้วยกัน

เขาก็เอาบริขารของท่านใส่ต่างไป ข้ามเขาข้ามเหวไปถึงเมืองกอง จากเมืองกองไปถึงเมืองแหง พ่อเมืองแหงรู้ว่าท่านมา ใช้ให้คนมารับ ๒ คน ตอนนี้ท่านก็เริ่มเป็นไข้หนักเข้าทุกที จึงจำเป็นต้องพักรักษาตัวอยู่ที่เมืองนี้ พ่อเมืองเกิดความเลื่อมใส พยายามช่วยอนุเคราะห์เป็นศิลานุปัฏฐากอย่างเต็มที่

ท่านรักษาตัวอยู่ ๒ เดือนเศษ พระมนู พระเขือง เลยไปก่อน หลังจากพระเขือง พระมนูไปได้ ๑๐ วัน โดยที่ท่านต้องการจะไปแม้ยังไม่หายดี ท่านก็ตามไปทันท่านมนูที่พระธาตุแม่สวย แล้วได้อยู่ที่นี่ ๑๐ วัน แต่ไม่พบพระเขือง เพราะพระเขืองได้กลับไปเสียแล้ว ท่านมนูก็เลยแยกไปภูเขาลูกหนึ่งอยู่กับพวกปะหล่อง ท่านจึงเดินทางไปแต่ผู้เดียว

ไปถึงบ้านเชียงหลวง ไปพักอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเล็ก ๆ ข้าง ๆ ภูเขา น้ำใสไหลเย็น มีพุ่มไม้เกิดขึ้นตามริมฝั่ง ร่มเย็น ทรายแดงขาวปนกับเกลือเงินเกล็ดทองที่ถูกน้ำเซาะมาแต่ซอกหิน เป็นระยิบระยับ ฝูงนกมากมายหลายจำพวกมาหากินตามชายฝั่ง จนไม่ทราบว่ามีนกอะไรบ้าง แถวนี้นับว่ามีทำเลดี ท่านว่าสบายแท้ จึงอยู่ทำความเพียรเป็นเวลานาน ได้รับความเยือกเย็นเป็นอย่างยิ่ง ทั้งชาวบ้านก็ไม่รบกวน ใส่บาตรให้ฉันแล้วก็แล้วกัน อยู่องค์เดียวไม่พูดอะไรกับใคร มีแต่อนุสรณ์ถึงธรรมแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น

ที่นี่จำพวกเสือหมีมีมาก มันเข้ามาหาทุกคืนแต่มันก็ไม่ทำอะไรใคร แต่มันคอยกินวัวควายของชาวบ้านเสมอ เสียงเสือมันจะร้องกังวานน่าเสียวเฉพาะใหม่ ๆ พอชินแล้วมันก็ธรรมดา แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม มันก็ทำให้เกิดความระวังสติขึ้นได้มาก

จากนั้นท่านเดินทางต่อไปเพื่อหาที่วิเวกและเพื่อเป็นการฝึกตัวเอง ก็บรรลุถึงบ้านหมากกายอน เป็นหมู่บ้านเล็กอยู่ระหว่างหุบเขา เป็นที่เงียบสงัดดี ท่านจึงพักอยู่ปรารภความเพียร ณ ที่นั้นอีก เป็นที่วังเวง มีแต่เสียงสัตว์ป่าร้องโหยหวน เฉพาะอย่างยิ่งชะนีมีมากทีเดียว เพราะมันส่งเสียงร้องระงมป่าไปหมด ตกกลางคืนก็พวกนกอูลอ ร้องคล้าย ๆ คนเรียก แล้วก็พวกนกเค้าดูมันไม่ค่อยรู้จักคนเอาทีเดียว ท่านว่าท่านอยู่ในที่นี้เหมือนอยู่อีกโลกหนึ่ง เป็นเหตุให้ระลึกถึงมรณานุสติอยู่ตลอดเวลา คล้ายกับหายห่วงอะไร ๆ ทุกสิ่งทุกอย่าง มันเป็นบรรยากาศที่เหมาะสมแก่สมณะแท้ๆ

ท่านอยู่บำเพ็ญสมณธรรมที่นี้พอสมควรแก่กาล ก็เดินธุดงค์ต่อไป ข้ามห้วยนอนหลับ (ที่ว่าห้วยนอนหลับเพราะด้วยนี้ยาวมาก ต้องหลายคืนจึงจะเดินตลอด) ตอนนี้ข้ามเขตไทยถึงพม่าแล้ว เป็นป่าทึบมากทีเดียว มองไม่เห็นพระอาทิตย์เลย ขณะนี้ธุดงค์อยู่องค์เดียว อาศัยอาหารพวกชาวเขา ป่านี้ระหว่างเขตไทยพม่า เป็นป่าใหญ่มาก ท่านธุดงค์วกเข้าวกออกระหว่างเขตอยู่ ๔ เดือน พอเห็นว่ามีชาวเขาอยู่ตรงไหน ท่านก็พักอาศัยอยู่กับเขา พอมีอาหารประทังชีวิต เพื่อให้ได้ที่วิเวก พอได้บำเพ็ญสมณธรรม ขณะที่ท่านอยู่กับชาวเขา ท่านได้อบรมให้ชาวเขาเหล่านั้นได้เข้าใจถึงพระพุทธศาสนา จนชาวเขาเกิดความเลื่อมใสในตัวท่าน จะไปทางไหนต้องติดตามไปช่วยถือบริขารบ้าง ปฏิบัติต่าง ๆ บ้าง

วันหนึ่ง ท่านเห็นพวกชาวเขาไปได้กวางมาตัวหนึ่ง ช่วยกันแล่เนื้อแล้วย่างแขวนไว้ นำเอาไปถวายท่านตอนเย็น เนื้อยังร้อนอยู่ ท่านบอกว่าฉันไม่ได้ ต้องตอนเช้าแล้ว พวกชาวเขาเหล่านั้นจะมาหาท่านตลอดเวลาจนเป็นเรื่องของการกังวล ท่านจึงออกเดินธุดงค์ต่อไปถึงเมืองเต๊ะจ๊ะจนค่ำมืด เดินข้ามน้ำ (ลึก) ขนาดโคนขา ท่านก็เดินเรื่อยไป

คราวนี้ท่านทดลองเดินทางลัด ไม่ไปตามทาง และไม่ให้ชาวเขาเหล่านั้นติดตามไปด้วยลัดป่า ขึ้นหิน ข้ามห้วย หลงทาง ไม่ทราบจะไปทางไหนดี นอนค้างกลางดงใหญ่ นั่งภาวนาเต็มที่นึกว่า เอาละ คราวนี้ต้องตายกันที เพราะไม่รู้จะไปทางไหนจึงจะพบบ้านคน ภาวนาดีแท้ ๆ ท่านว่าคนเราถึงที่สุดมันก็แค่ตาย

ตื่นขึ้นแต่เช้า เดินทางต่อไป ไม่ได้ฉันอะไรเลย ฉันแต่น้ำพอประทังความกระหาย เดินไป ๑ วันเต็ม ๆ พอดีเจอทางคน ท่านก็เดินตามทาง พอดีพบเห็นแสงไฟ ท่านก็เดินเข้าไปหาแสงไฟจึงพบหมู่บ้านใหญ่โต และพักอยู่จนเช้า ออกบิณฑบาต ถามชาวบ้าน เขาบอกว่าที่นี่ชื่อเมืองทา เขตพม่า จึงพักอยู่ ๓ คืน ดีเหมือนกัน ท่านว่า

“มาพบผู้คนเสียที เขาดี พวกนี้เป็นพวกเงี้ยว (ไทยใหญ่) เป็นคนมีรูปร่างสะอาดดี มีศีลธรรมดีมาก การขายของไม่ต้องมีคนเฝ้า เจ้าของบางทีไม่อยู่ในร้าน คนซื้อรู้ราคา เอาเงินไปใส่วางไว้แล้วก็เอาของไป ไม่มีโกงกัน”

ท่านถามชาวบ้านว่า ของทำอย่างนี้ไม่หายหรือ?

เขาตอบว่า “ไม่เสียหาย ไม่เคยมีเสียหาย ไม่ขโมยกันหรือ ไม่มีขโมย ถ้าใครขโมย คนนั้นไม่มีใครคบตลอดชาติ ผู้หญิงจะหาผัวไม่ได้ ผู้ชายจะหาเมียไม่ได้ ไม่มีใครต้อง ถือว่าเศษคน”

• ปี พ.ศ.๒๔๘๒

ครั้นเมื่อท่านได้สถานที่เหมาะสมแล้วเช่นนี้ ท่านอยู่จำพรรษากับพวกชาวเขาปะหล่อง ซึ่งเป็นยอดภูเขาสูงชันมากและเป็นเขตพม่า ท่านอยู่องค์เดียว เขาทำกุฏิถวายให้เหมือนกับคอกหมูเพราะท่านบอกว่าท่านต้องเดินจงกรม เสือมันก็มาหมอบอยู่ข้าง ๆ ก็ทำบ้านเช่นคอกหมูเหมือนกัน พวกเขาดีใจมากที่ท่านไปอยู่ที่นี้ เพราะพวกชาวเขาเหล่านี้เลื่อมใสพระพุทธศาสนาอยู่แล้ว

ปีนี้เป็นปีสำคัญที่ท่านปรารภความเพียรอย่างยิ่งยวด โดยพยายามเร่งความเพียร พยายามให้มีสติครอบครองจิตอยู่ตลอดเวลาทั้งกลางวันกลางคืน ไม่มีใครมายุ่งเกี่ยว เป็นโอกาสอันดีแท้ จิตใจผ่องใส มีความเยือกเย็นสุขุมเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งจะหาปีใดเสมอปีนี้ไม่มีเลย วิเวกทั้งกาย วิเวกทั้งใจ

เมื่อท่านอยู่กับชาวเขาตลอดพรรษาแล้ว ก็คิดถึงท่านพระอาจารย์มั่น อยู่กับเขา ๔ เดือนก็ลาเขากลับ พวกเขาพากันร้องห่มร้องไห้กันใหญ่ เขาไม่อยากให้ท่านกลับเลย ท่านแทบจะไม่ได้กลับเสียแล้ว แต่ความที่ต้องการพบท่านพระอาจารย์มั่น โดยที่ต้องการกราบเรียนท่านถึงการทำจิตที่ผ่านมา จึงตัดสินใจกลับ

เดินกลับทางเก่าจนไปถึงเชียงใหม่ ทราบข่าวท่านพระอาจารย์มั่นถูกท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) นิมนต์จากเชียงใหม่ไปยังจังหวัดอุดรธานีเสียแล้ว ท่านจึงติดตามไป

พอไปถึงกรุงเทพฯ ก็พอดีไปพบกับท่านอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ ชวนท่านไปทางจันทบุรี ท่านคิดว่าจันทบุรียังไม่เคยไป เลยตัดสินไปจันทบุรี แล้วเมื่อไปถึงจันทบุรี ท่านก็ไปเที่ยวทั่วไปๆ เพราะโดยปกติท่านไม่ชอบอยู่เฉยอยู่แล้ว ท่านได้ไปช่วยท่านอาจารย์จันทร์ เขมปตฺโต สร้างวัดที่บ้านยางระหง อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี

• ปี พ.ศ.๒๔๘๓ - ๒๔๘๕
ปีนี้ท่านก็ได้จำพรรษาที่วัดทรายงาน อ.เมือง จ.จันทบุรี กับผู้เขียนเป็นเวลา ๑ ปี เนื่องจากท่านอาจารย์กงมาท่านไม่ได้จำพรรษาที่วัดทรายงาม ท่านไปสร้างวัดใหม่ที่เขาน้อยท่าแฉลบ จันทบุรี และจำพรรษาอยู่ที่นั่น

ปีนี้เองท่านก็ได้สอนการแปลหนังสือ บาลี-ไทย ให้แก่ผู้เขียน เพราะไวยากรณ์นั้นผู้เขียนได้เรียนมาจบแล้วตั้งแต่ยังไม่ได้บรรพชาเป็นสามเณร หลังจากผู้เขียนบรรพชาแล้ว ก็เริ่มเร่งความเพียรตลอดมา มิได้จับดูหนังสือประเภทนี้เลย เพิ่งจะมาจับการแปลตอนที่ท่านมาอยู่ที่วัดทรายงามนี้เอง

เมื่อท่านอยู่วัดทรายงามแล้วท่านก็ได้สั่งสอนประชาชนให้เกิดความยินดีในธรรมคำสั่งสอนพระพุทธเจ้าเป็นอย่างมาก และแนะนำพร่ำสอนกุลบุตรที่ได้เข้ามาบรรพชาอุปสมบท จนเป็นที่เลื่อมใสแก่กุลบุตรเหล่านั้นอย่างยิ่ง

หลังจากท่านทราบว่า ท่านอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ ได้ไปนมัสการท่านอาจารย์มั่นแล้ว ท่านก็จำเป็นที่จะต้องอนุเคราะห์ชาวหนองบัว วัดทรายงามก่อน ครั้นจะไปทีเดียวก็ไม่มีใครจะอยู่วัดทรายงามแทน ท่านจึงต้องอยู่ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๓-๒๔๘๔-๒๔๘๕ จึงได้เดินทางไปพบท่านอาจารย์มั่นที่บ้านนามน ตำบลตองโขบ อำเภอเมือง* จังหวัดสกลนคร
* บ้านนามน ปัจจุบันอยูในอำเภอโคกศรีสุพรรณ

ผู้เขียนขณะนั้นกำลังอยู่กับท่านอาจารย์มั่น เมื่อท่านกลับไปพบท่านพระอาจารย์มั่นแล้ว ท่านพระอาจารย์มั่นท่านก็ใช้ให้ไปอยู่บ้านห้วยหีบ ตำบลหนองเหียน อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ห่างจากบ้านนามนประมาณ ๔ กม.และที่บ้านห้วยหีบนั้น ท่านไปอยู่ตรงที่มีผีป่ามันหวงไว้ เข้าไปทำลายดงผีป่าปู่ตาจนจะเกิดเรื่องกับชาวบ้านเสียแล้ว แต่ท่านก็ได้แสดงธรรมแก้ไขจนเขาเหล่านั้นกลับเลื่อมใส แล้วท่านก็อยู่ที่นั้นต่อไป

• ปี พ.ศ.๒๔๘๖ - ๒๔๘๘
เมื่อท่านพักอยู่บ้านห้วยหีบนั้น ก็เหมือนกับที่ท่านเคยอยู่กับท่านพระอาจารย์มั่นมาแต่ก่อนเหมือนกัน คือเมื่อถึงเวลาอันสมควร ท่านก็จะต้องไปฟังธรรมเทศนาเสมอ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งวันอุโบสถ ไม่ว่าองค์ใดจะอยู่ที่ไหน ถ้าพอจะมาประชุมทำอุโบสถได้ต้องพยายามมารวมทำอุโบสถกับท่านพระอาจารย์มั่น เพราะว่าหลังจากทำอุโบสถแล้ว ท่านจะให้โอกาสและเปิดโอกาสให้ซักถามข้อข้องใจในการปฏิบัติที่ผ่านมา กับให้โอวาทอันจับใจเป็นเวลานานพอสมควร จึงต่างองค์ต่างกลับที่พักของตน

• ปี พ.ศ.๒๔๘๙ - ๒๕๐๗
ในระหว่างที่ท่านอยูบ้านห้วยหีบนั้น วัดป่าสุทธาวาสซึ่งเป็นวัดที่ท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีลเถร ผู้เป็นพระอาจารย์ของท่านพระอาจารย์มั่น ได้สร้างไว้ อันเป็นวัดใหญ่โตและสำคัญอยู่ที่เมืองสกลนคร เกิดว่างสมภารลง มีการรวนเร พระภิกษุสามเณรก็ขาด ดังนั้น ท่านพระอาจารย์มั่นจึงได้สั่งให้ท่านพระครูอุดมธรรมคุณ ขณะนั้นอยู่บ้านห้วยหีบ ให้มาเป็นเจ้าอาวาสอยู่ ณ วัดป่าสุทธาวาสนี้ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๙ ถึง ๒๕๐๗

เนื่องจากท่านพระครูอุดมธรรมคุณเป็นผู้มีนิสัยไม่นิ่งดูดายและมีนิสัยโอบอ้อมอารี จึงมีพระภิกษุสามเณรไปอยู่ด้วยมากขึ้นเป็นลำดับ จนถึงกับมีการสอนนักธรรม เป็นสนามหลวงสอบธรรมจนได้รับการยกย่องจากส่วนกลาง นอกนั้นท่านก็ได้ปรับปรุงเสนาสนะจากการปรักหักพังจนมีกุฏิถาวรขึ้นหลายหลัง แก้ไขแผนผังวัดจนสง่างาม ทั้งศาลาการเปรียญ โรงฉันสวยงามถาวรแข็งแรง ซึ่งสามารถมีที่พักพอแก่พระภิกษุสามเณรนับร้อย

ครั้นเมื่อพุทธศักราช ๒๔๙๒ อันเป็นปีที่สำคัญมาก คือท่านพระอาจารย์มั่นเกิดอาพาธหนัก และย้ายออกจากบ้านหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ออกมาบ้านนาภู่ และย้ายมาถึงวัดป่าสุทธาวาส ท่านพระอาจารย์มั่นได้มรณภาพที่วัดป่าสุทธาวาสในปีนี้ท่านพระครูอุดมธรรมคุณท่านได้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงที่สำคัญในการจัดงานศพของท่านพระอาจารย์มั่น แต่ว่าทุก ๆ อาจารย์ เช่น ท่านอาจารย์อ่อน ญาณสิริ ท่านอาจารย์เจ้าคุณนิโรธรังสี (เทสก์ เทสรํสี) ท่านอาจารย์ฝั้น อาจาโร ท่านอาจารย์กงมา จิรปุญโญ ผู้เขียน ๑ รวมอยู่ด้วย และมีอีกหลายอาจารย์ ได้มาร่วมช่วยในงานศพท่านพระอาจารย์มั่น

๑. ปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๔๕) คือ พระราชธรรมเจติยาจารย์ (หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร)

ท่านพระครูอุดมธรรมคุณ ในฐานะเจ้าอาวาส ก็ต้องมีภาระหนักมาก เพราะท่านพระอาจารย์มั่นมรณภาพคราวนี้ บรรดาศิษยานุศิษย์ของท่านมีทั่วประเทศไทย ต่างก็ได้ทยอยมาอย่างมากมายจนเสนาสนะไม่พออาศัย ต้องอยู่โคนต้นไม้กันเต็มไปหมด พระภิกษุสามเณรประมาณ ๘๐๐ กว่า ประชาชนจำนวนหลายหมื่น ในการมาประชุมเพลิงคราวนั้น และมิใช่มาเฉพาะจังหวัดเดียว ต่างก็มากันหลายจังหวัด ซึ่งเป็นงานใหญ่โตมโหฬารพิเศษ แต่ท่านพร้อมกับพระอาจารย์ทั้งหลายได้ช่วยจัดการจนงานเหล่านี้สำเร็จได้ด้วยดี หลังจากท่านพระอาจารย์มั่นมรณภาพเดือนพฤศจิกายน พอถึงปลายเดือนมกราคมได้ประชุมเพลิง ซึ่งเป็นเวลาที่น้อยมากสำหรับจัดงานที่ใหญ่โตอย่างนี้ แต่คณะบรรดาอาจารย์ทั้งหลายก็สามารถจัดงานนี้สำเร็จลุล่วงไปโดยมิได้มีอะไรขาดตกบกพร่องเลย ซึ่งนับเป็นเกียรติประวัติที่หาได้ยากในการทำฌาปนกิจศพในคราวครั้งนั้น

หลังจากการทำประชุมเพลิงท่านพระอาจารย์มั่นผ่านพ้นไปแล้ว ยังมีเงินที่ประชาชนทั้งหลายมาบริจาคใช้จ่ายช่วยเหลืออยู่หลายหมื่นบาท ศิษยานุศิษย์ก็ตกลงกันสร้างอนุสาวรีย์ถวายท่านพระอาจารย์มั่น ซึ่งก็อาศัยพระครูอุดมธรรมคุณเป็นประธานในการก่อสร้างอนุสาวรีย์นี้ การสร้างอนุสาวรีย์ครั้งนี้ก็ตกลงว่าให้เป็นอุโบสถไปในตัวเสร็จ เพราะขณะนั้นวัดป่าสุทธาวาสยังไม่มีพระอุโบสถที่ถาวร เมื่อการตกลงจะให้เป็นอุโบสถ ก็จำเป็นต้องใช้ปัจจัยก่อสร้างเป็นเงินหลายแสนบาท จำเป็นอยู่เองที่ท่านพระครูอุดมฯ ก็จะต้องหนักใจมากที่จะดำเนินงานชั้นนี้ให้บรรลุถึงความสำเร็จ

การก่อสร้างได้ดำเนินมาแต่ พ.ศ. ๒๔๙๓ บรรดาพระอาจารย์ทั้งหลายได้พยายามช่วยบอกบุญให้ได้ซึ่งปัจจัยทำจนเสร็จ และได้ทำพิธีผูกพัทธสีมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๙ ได้ทำพิธีบรรจุอัฐิธาตุของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถร ไว้ภายในพระอุโบสถหลังนี้

ท่านพระครูอุดมธรรมคุณ ท่านก็ได้พยายามตบแต่งอุโบสถอันเป็นอนุสาวรีย์นี้จนดูสวยงามวิจิตรพิสดาร หาที่อื่นเปรียบปานได้ยาก ท่านได้อุตสาหวิริยะเป็นที่สุดในการทำนุบำรุงวัดป่าสุทธาวาส ปรับปรุงเสนาสนะจนเข้ารูปเป็นวัดที่มั่นคงแข็งแรงสง่างาม ปรับปรุงการศึกษาด้านปริยัติธรรม ตลอดถึงการแสดงธรรมแก่อุบาสกอุบาสิกา นับเป็นการจำพรรษาของท่าน เป็นเวลาอันยาวนานที่สุดในชีวิตของท่านก็คือที่นี่ คือจำพรรษาเวลา ๑๙ ปี

• มรณกาล ปี พ.ศ.๒๕๐๘

เมื่อท่านได้ตรากตรำงานการก่อสร้างมากขึ้น ก็เป็นเหตุให้ท่านมีโรคภัยไข้เจ็บรบกวนมากขึ้นเป็นลำดับ ท่านก็พยายามรักษา แต่การเป็นโรคของท่านก็มีแต่จะทวีขึ้น ท่านจึงได้มากรุงเทพ ฯ เพื่อจะได้รักษาให้ถูกต้องตามหลักวิชาการของแพทย์ จนได้เข้าโรงพยาบาลรักษาอยู่ที่อายุรศาสตร์ (โรงพยาบาลโรคเมืองร้อน)

ต่อมาก็ได้เข้าทำการผ่าตัดที่โรงพยาบาลศิริราช โดยมีศาสตราจารย์นายแพทย์อุดม โปษกฤษณะ เป็นผู้ดูแลการผ่าตัดและรักษา แต่อาการก็ไม่ทุเลาลง ได้มีแต่ทรงกับทรุดเท่านั้น เมื่อถึงเวลาเข้าพรรษา ท่านจึงออกจากโรงพยาบาล มาอยู่วัดธรรมมงคลเถาบุญนนทวิหาร ที่ผู้เขียนได้มาสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๖ อาการของท่านไม่ดีขึ้นกลับทรุดหนักต่อไปอีก ศาสตราจารย์นายแพทย์อุดม โปษกฤษณะ จึงได้มารับเข้าไปโรงพยาบาลศิริราชอีกครั้ง และทำการผ่าตัดอีกเป็นครั้งที่ ๒ โรคกำเริบสุดขีดสุดความสามารถของแพทย์ที่จะทำการเยียวยา ก็ได้มรณภาพเมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๖ เวลา ๐๖.๐๔ น. สิริอายุ ๕๗ ปี ๓๘ พรรษา

ข้าพเจ้าผู้เขียน (พระอาจารย์วิริยังค์ สิรินฺธโร) ในฐานะเป็นศิษย์ของท่านพระอุดม ฯ ขอขอบพระคุณในท่านศาสตราจารย์นายแพทย์อุดม อย่างมากในการให้ความอุปการะแด่ท่านพระครูอุดม ฯ คราวนี้ซึ่งเป็นการหาได้ยากมาก ถ้าท่านศาสตราจารย์ ฯ ไม่อุปการะแล้วก็คงจะลำบากกว่านี้ แต่นี่ได้รับความสะดวกทุกประการ แม้ตอนที่อยู่วัดธรรมมงคล ก็ยังได้ไปช่วยดูแลรักษาอยู่ตลอดเวลา บุญกุศลใดที่ผู้เขียนได้บำเพ็ญมาตั้งแต่ต้นจนบัดนี้ ขอส่งผลให้ท่านศาสตราจารย์นายแพทย์อุดม โปษกฤษณะ จงประสพอิธวิบูลพูนผล สุขสวัสดิ์พัฒนมงคล สมบูรณ์พูลผล ถึงซึ่งพระนิพพานเทอญ.

หลังท่านมรณภาพแล้ว ผู้เขียนได้นำศพของท่านมาบำเพ็ญกุศล ณ ที่วัดธรรมมงคล ฯ ซึ่งก็ได้บำเพ็ญกุศลตามความสามารถ เป็นที่เรียบร้อย ครั้นถึงวันที่ท่านเจ้าคุณวิบูลธรรมภาณ เจ้าคณะธรรมยุต จังหวัดสกลนคร และท่านเจ้าคุณพิศาลศาสนกิจพร้อมด้วยชาวสกลนคร ประมาณ ๒๐๐ คน ได้มารับศพท่านกลับไปจัดพิธีบำเพ็ญกุศล ณ ที่วัดสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร

• อวสานกถา

เป็นธรรมดาของสังขารทั้งหลาย ที่เกิดขึ้นมาแล้วก็ต้องสลายไปในที่สุด คือเกิด-แก่-เจ็บ-ตาย แต่ทั้งที่พวกเราก็ทราบแล้วว่าจะต้องตาย ก็ยังอดอาลัยในความเป็นอยู่ไม่ได้ เนื่องจากอวิชายังปกคลุมใจของพวกเราทั้งหลายอยู่ แม้ท่านพระครูอุดมธรรมคุณท่านก็ต้องตกอยู่ในสภาพความจริงของสังขาร ท่านได้ละสังขารไปแล้ว แต่ความดีทั้งหลายที่ท่านได้บำเพ็ญให้เป็นประโยชน์ แก่บวรพระพุทธศาสนามากมายเป็นสิ่งที่ไม่ตาย ยังปรากฏชัดเจนแก่บรรดาศิษยานุศิษย์และประชาชนทั้งหลาย เป็นความจริงที่ท่านพระครูอุดมธรรมได้บำเพ็ญประโยชน์ทั้งในส่วนตัวและผู้อื่นอย่างเต็มความสามารถ ทั้งนี้นอกจากจะเป็นทิฏฐานุคติแบบอย่างแก่ กุลบุตร กุลธิดา ที่จะเกิดมาในภายหน้าแล้ว ท่านยังรวบรวมคุณงามความดี ทั้งอย่างต่ำ ชั้นกลาง และชั้นสูง ติดตามตัวของท่านไปมากมาย ซึ่งเป็นการสมควรเป็นอย่างยิ่ง ในการมีชีวิตเป็นมนุษย์ ใช้การต่อสู้ทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อให้ได้คุณสมบัติอันเลอเลิศ อันจะพึงมีอยู่ในบวรพระพุทธศาสนา

คัดลอกจากหนังสือ ทางสู่สันติ ประวัติพระครูอุดมธรรมคุณ(หลวงปู่ทองสุก สุจิตฺโต) โดย หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร

-----
ขอนอบน้อมพระอริยสงฆ์ด้วยเศียรเกล้า
อนุโมทนาบุญกุศลจากการอ่าน
ขอขอบคุณ อนุโมทนาบุญผู้รวบรวม เผยแพร่ FBพระกรรมฐานสายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
ขอสรรพมงคลจงมีแด่ท่าน
สวัสดี.

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ชีวประวัติ ปฏิปาพระอาจารย์อัครเดช (พระอาจารย์ตั๋น) ถิรจิตฺโต วัดบุญญาวาส ต.บ่อทอง อ.บ่อทอง จ.ชลบุรี

หลวงปู่ชอบ ฐานสโม วัดป่าสัมมานุสรณ์ อ.วังสะพุง จ.เลย

ชีวประวัติ ปฏิปทาหลวงปู่เบา โอภาโส วัดป่ากิตติพรพุทธาราม อ.วังยาว จ.นครพนม